THREL ปิดไตรมาสแรก โกยเบี้ยเฉียด 800 ลบ. ปักธงปี 67 โต 4-5%
THREL ปักธงเบี้ยประกันภัยต่อรับปี 67 โต 4-5% ทะลุ 3500 ล้านบาท เร่งเดินกลยุทธ์ “ซ่อม-สร้าง” เสริมแกร่ง ยอมรับภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตยังมีหลายปัจจัยต้องจับตา “ค่าเคลมสินไหม-เงินเฟ้อค่ารักษาพุ่ง” ส่อเค้าน่ากังวล กางผลงานงวดแรกไตรมาส 1/67 เบี้ยประกันภัยต่อรับโต 18% เฉียด 800 ล้านบาท
นายวิพล วรเสาหฤท กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยรีประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) หรือ THREL เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าเบี้ยประกันภัยต่อรับปี 2567 ทะลุ 3500 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่อง 4-5% จากปี 2566 ที่ทำได้ 3455 ล้านบาท ภายใต้การเร่งเดินหน้ากลยุทธ์ “ซ่อม-สร้าง” โดยกลยุทธ์ “ซ่อม” บริษัทจะเน้นซ่อมเสริมพอร์ตให้แข็งแรงขึ้น ด้วยการดูแลรักษาคุณภาพการรับงานใหม่ๆ เพื่อคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดยฉพาะงานด้านประกันสุขภาพกลุ่มที่ส่วนใหญ่ได้รับผลโดยตรงจากการปรับขึ้นราคาค่ารักษาพยาบาล (Medical Cost Inflation) ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ขยับขึ้นสูงกว่า 10% เทียบจากช่วงสถานการณ์ปกติที่เฉลี่ยปรับขึ้นราว 4-6% ต่อปี
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดบริษัทได้ดำเนินการทบทวนราคาค่าเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับการต่ออายุสัญญาให้เหมาะสม และสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวแล้วราว 50% ของพอร์ตรวม ขณะที่กลยุทธ์ “สร้าง” บริษัทฯจะมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจที่มีศักยภาพต่อยอดการเติบโต โดยเฉพาะประกันสุขภาพรายบุคคลที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่นตามภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิต ภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรัดกุม ซึ่งยอมรับว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมประกันชีวิตปี 2567 ยังจำเป็นต้องจับตาหลายปัจจัยอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะค่าสินไหมทดแทน (เคลม) ประกันสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาลที่ไม่สามารถควบคุมได้
นายวิพล กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับภาพรวมผลการดำเนินงานโค้งแรกของงวดไตรมาส 1/2567 เบี้ยประกันภัยต่อรับรวมเติบโต 18% เทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 788 ล้านบาท โดยเบี้ยประกันภัยต่อที่ถือเป็นรายได้สุทธิเติบโต 23% แตะ 879 ล้านบาท ตามการเติบโตของงานประกันสุขภาพทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัยรวมเพิ่มขึ้นแตะ 973 ล้านบาท ส่งผลทำให้ combined ratio เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 115.2% สาเหตุสำคัญมาจากค่าสินไหมทดแทนรวมเพิ่มขึ้นราว 188 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทนของผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ตามภาวะของอุตสาหกรรมที่มีการปรับขึ้นของ Medical Cost Inflation สูงเกินกว่าอัตราค่าเบี้ยประกันที่ได้ปรับเพิ่มขึ้น
ขณะที่ค่าบำเหน็จสุทธิ เพิ่มขึ้น 38 ล้านบาท ตามการเติบโตของรายได้เบี้ยประกัน ส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนสุทธิ 87 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทได้ดำเนินการทบทวนและปรับราคาค่าเบี้ยประกันสุขภาพแล้วบางสัญญาสำหรับการต่ออายุสัญญาใหม่ และกำลังปรับปรุงสัญญาที่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงาน เพื่อให้อัตราค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ย (Loss ratio) และอัตราค่าใช้จ่ายรวม (Combined ratio) กลับเข้าสู่เกณฑ์เป้าหมายในอนาคต
“แม้ภาพรวมอุตสาหกรรมฯปีนี้ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะค่าเคลมสินไหม และเงินเฟ้อค่ารักษาพยาบาล ที่ส่อเค้าน่ากังวล แต่จากกลยุทธ์ ซ่อม-สร้าง ที่เราเร่งดำเนินการอยู่ เชื่อมั่นว่า ภาพรวมผลการดำเนินการของบริษัทฯในช่วงไตรมาส 2/67 ต่อเนื่องครึ่งหลังของปี จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่อง” นายวิพล กล่าว