finbiz by ttb แนะเทรนด์รักษ์โลก: โอกาสของธุรกิจเพื่อครองใจผู้บริโภค
ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนกำลังตื่นตัวกับกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืน กระแสนี้จะมีผลต่อธุรกิจอย่างไรและจะเป็นเพียงชั่วคราวหรือไม่ finbiz by ttb ได้รวบรวมข้อมูล เพื่อให้ผู้ประกอบการพิจารณาและตัดสินใจว่าธุรกิจควรจะเดินหน้าไปอย่างไรท่ามกลางกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืนนี้
กระแสรักษ์โลกถูกกระตุ้นขึ้นมาในช่วงเวลานี้เนื่องจากเหตุผลหลายประการ ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งที่เริ่มเห็นได้ชัด จากความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของมนุษย์ ขยายไปสู่เหตุผลอื่น ๆ ที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องตระหนักให้ความสำคัญ ดังนี้
1. ผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพ
ปัญหาสิ่งแวดล้อม เช่น มลพิษทางอากาศ ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนโดยตรง ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง เช่น ปัญหา PM2.5 หรือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งเหล่านี้กระตุ้นให้เกิดการย้ายถิ่นฐานได้ ส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหาร น้ำ และที่อยู่อาศัย รวมทั้งก่อให้เกิดภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม
2. ความกังวลต่ออนาคตของโลก
จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นความเสี่ยงต่อระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เพิ่มระดับความรุนแรง เช่น ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น อุณหภูมิโลกสูงขึ้น พายุที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้เกิดความกังวลต่ออนาคตของโลก และความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอนาคต ซึ่งเป็นลูกหลานของคนในยุคปัจจุบัน
3. แรงกดดันจากประชาชน
เมื่อประชาชนทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และต้องการให้ภาครัฐดำเนินการเพื่อแก้ไข จึงเกิดการเรียกร้องให้นโยบายต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืน สิ่งนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผลักดันให้ภาครัฐออกนโยบาย และข้อบังคับต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
4. การแข่งขันทางเศรษฐกิจ
ภาคธุรกิจในประเทศต่าง ๆ แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ตอบสนองนโยบายและข้อบังคับ และเพื่อเป้าหมายสู่ความยั่งยืนโดยแท้จริง รวมถึงเป็นการแสดงออกถึงจุดยืนให้ประจักษ์ต่อผู้บริโภคที่มีความตื่นตัวในการรักษ์โลก ซึ่งประเทศที่ตื่นตัว หรือมีข้อบังคับต่าง ๆ จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ก่อน และจะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สามารถแข่งขันได้ในสังคมโลก การแข่งขันทางเศรษฐกิจนี้จึงก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ และช่วยขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้อย่างรวดเร็ว
5. ความร่วมมือระหว่างประเทศ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาที่ไม่มีพรมแดนและเป็นปัญหาของมวลมนุษยชาติที่ทุกประเทศต่างต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางแก้ไข ก่อให้เกิดกรอบความร่วมมือ เช่น ความตกลงปารีส และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs (Sustainable Development Goals) กรอบความร่วมมือเหล่านี้ ช่วยให้ภาครัฐมีแนวทางในการออกนโยบายและมาตรการที่สอดคล้องกัน รวมถึงประเทศไทยที่ได้ประกาศจุดยืนที่จะบรรลุ Net Zero (ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์) ในปี 2065 และมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050
ความยั่งยืนกับโอกาสของธุรกิจที่พร้อมจะครองใจผู้บริโภค
รักษ์โลกและความยั่งยืนจึงไม่ได้เป็นเพียงกระแส แต่เป็นเป้าหมายที่ภาคธุรกิจต้องรีบเตรียมตัวที่จะเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนตามแนวคิดการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนหรือ ESG นอกจากจะเป็นการตอบสนองนโยบายภาครัฐแล้ว ยังเป็นการดึงดูดผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม
Gen Z และ Millennials คือ กลุ่มที่ให้ความสำคัญกับกระแสรักษ์โลกและความยั่งยืนที่สุด
กลุ่มคนในรุ่น Gen Z และ Millennials คือ คนที่เกิดในปี 1980-2012 โดยช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้เติบโต เป็นยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงขึ้น และมีความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารจากทั่วโลก คนกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งหรือลูกหลานที่คนกลุ่มนี้รักจะยังมีชีวิตอยู่ถึงปีที่นานาประเทศประกาศจุดยืนด้านสิ่งแวดล้อม เหตุการณ์ต่าง ๆ หล่อหลอมให้คนในรุ่นนี้เป็นกลุ่มที่มีจิตสำนึกทางสังคมสูง จากผลสำรวจพบกว่า 81% ของ Millennials ในประเทศไทย เชื่อว่าธุรกิจมีหน้าที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และ 73% ของ Gen Z ยินดีจ่ายเงินที่มากกว่าสำหรับสินค้าและธุรกิจที่สนับสนุนความยั่งยืน โดยคนกลุ่มนี้ยังเป็นประชากรที่มากที่สุดของโลกที่อยู่ในวัยทำงานและมีอำนาจในการตัดสินใจมีกำลังในการซื้อ
แนวทางในการพัฒนาสินค้าและธุรกิจอย่างไรให้ยั่งยืน ครองใจผู้บริโภค
1.วัสดุที่ยั่งยืน ผู้บริโภคใส่ใจกับที่มาของวัสดุที่ใช้ผลิตสินค้า เช่น วัสดุรีไซเคิล วัสดุชีวภาพ และวัสดุที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ เช่น เสื้อผ้าที่ผลิตจากผ้าฝ้ายออร์แกนิก เส้นใยรีไซเคิล บรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากกระดาษรีไซเคิล พลาสติกรีไซเคิล เป็นต้น
2.การออกแบบที่ยั่งยืน คือ การออกแบบสินค้าที่ทนทาน สามารถใช้งานซ้ำได้ สามารถซ่อมแซมได้และ สามารถรีไซเคิลได้ โดยหลาย ๆ แบรนด์เริ่มให้ความสำคัญ เช่น เสื้อผ้าที่ออกแบบมาให้ใช้งานได้หลากหลายโอกาส และยังมีแผนกซ่อมแซมเสื้อผ้าด้วย บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือง่ายต่อการรีไซเคิล การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้ใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่ยังคงความแข็งแรงและรักษาสภาพของสินค้าไว้ได้ เป็นต้น
3.กระบวนการผลิตและบริหารจัดการที่ยั่งยืน ผู้บริโภคตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิต ดังนั้น การผลิตที่มีประสิทธิภาพ หรือการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยี จะช่วยให้ใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ รวมไปถึงการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างมีจริยธรรมด้วย
ธุรกิจที่พร้อมสู่ความยั่งยืน มีแหล่งเงินทุนสนับสนุน
ผู้ประกอบการคงมองเห็นโอกาสที่จะเร่งพัฒนาไปสู่องค์กรที่ยั่งยืนที่พร้อมจะครองใจผู้บริโภค และภาคธุรกิจเองยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้โลกของเรายั่งยืนขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็มีแหล่งเงินทุนที่พร้อมจะสนับสนุน เช่น สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม หรือ สินเชื่อสีเขียว (Green Loan) สินเชื่อเพื่อความยั่งยืนทางทะเล หรือ สินเชื่อสีฟ้า (Blue Loan) และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน (Sustainability-Linked Loan: SLL) ที่เข้าถึงได้ไม่ยาก เพียงธุรกิจมีโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเน้นไปที่การดำเนินงานเพื่อบรรเทาและปรับตัวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บริหารจัดการมลพิษและของเสีย และอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) เพื่อเพิ่มโอกาสและมุ่งไปสู่ความยั่งยืนของธุรกิจและโลกใบนี้