BKGI เคาะราคา IPO 1.63 บาท/หุ้น เปิดจอง 12-14 มี.ค. เข้าเทรด SET 20 มี.ค. นี้

   เมื่อ : 08 มี.ค. 2567

บมจ.แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น (BKGI) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) ที่ 1.63 บาท/หุ้น จำนวนเสนอขาย 160 ล้านหุ้น เตรียมเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม คาดเข้าเทรดใน SET วันที่ 20 มีนาคมนี้ โดยใช้ชื่อย่อ BKGI ในหมวด บริการ/ การแพทย์ ขณะที่บล.ฟินันเซีย ไซรัส ที่ปรึกษาทางการเงินและแกนนำอันเดอร์ไรท์มั่นใจนักลงทุนและประชาชนให้การตอบรับดีเยี่ยม ชูจุดเด่นหุ้นธุรกิจเทคโนโลยีไบโอเทครายแรก พร้อมการสนับสนุนจากกลุ่ม BGI ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ซึ่งเป็นผู้นำด้านการวิจัยและการใช้เทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ระดับโลก ฟากซีอีโอ "ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล" ระบุระดมทุนเพื่อรองรับแผนการขยายธุรกิจการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) หนุนผลงานโตก้าวกระโดด รับเมกะเทรนด์โลก

 

นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)

ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ

บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไป (IPO) จำนวน 160000000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 1.63 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 12-14 มีนาคม 2567 และคาดว่าจะสามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้ในวันที่ 20 มีนาคม 2567 โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า “BKGI” ในหมวดบริการ/การแพทย์

 

“BKGI ถือเป็นหุ้นที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากจะเป็นหุ้นธุรกิจเทคโนโลยีไบโอเทครายแรกของไทย

ที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย BKGI ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการถอดรหัสพันธุกรรม ที่เรียกว่า Next-Generation Sequencing จากกลุ่ม BGI  ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นผู้นำด้านการผู้นำด้านการวิจัยและการใช้เทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์ระดับโลก มาใช้ในการให้บริการ ทำให้ผล"

 

การวิเคราะห์ต่างๆ ของบริษัทฯ มีความแม่นยำสูง และเชื่อว่าหลังการเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด รองรับการเติบโตของธุรกิจการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์โลก  ในขณะเดียวกันการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย หรือ Aging Society ปัจจัยเหล่านี้กระตุ้นให้ประชาชนมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้มีความใส่ใจในการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น ต้องการที่จะหาวิธีป้องกันโรค ไม่ว่าเป็นการตรวจพันธุกรรม หรือตรวจคัดกรองโรคต่างๆ เพื่อวางแผนการใช้ชีวิต มั่นใจว่าธุรกิจของบริษัทฯ จะเติบโตตามแนวโน้มการแพทย์สมัยใหม่ที่เป็น New S-Curve และ

จะได้รับการตอบรับจากนักลงทุนและประชาชนทั่วไปอย่างคึกคัก”พร้อมกันนี้มีผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันจำหน่ายอีก 5 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทหลักทรัพย์กรุงศรี พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้  จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์ บียอนด์ จำกัด (มหาชน)

 

ดร.เสาวลักษณ์ ด่านสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แบงคอกจีโนมิกส์อินโนเวชั่น จำกัด (มหาชน) (BKGI) กล่าวว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานของ BKGI ในช่วงที่ผ่านมามีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากการที่ บริษัทฯ มีการให้บริการครอบคลุมทุกช่วงชีวิต ในราคาที่เข้าถึงได้ โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจหลักคือ การให้บริการตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยเจริญพันธุ์  โดยรายได้ในการให้บริการด้านอนามัยเจริญพันธ์ของบริษัทฯ ดังกล่าว ในช่วงปี 2563 - 2566 มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 23.40 ต่อปี

 

“การระดมทุนในครั้งนี้จะนำเงินที่ได้มาใช้ในการผลักดันการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว โดยเฉพาะแผนการขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์จีโนมิกส์ (Genomics) และด้วยการสนับสนุนของกลุ่ม BGI จะยิ่งเพิ่มศักยภาพของบริษัทฯ ช่วยสนับสนุนผลงานเติบโตอย่างก้าวกระโดด  และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรได้มากขึ้น  สอดรับธุรกิจเมกะเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมสูงในยุคปัจจุบัน”

 

ทั้งนี้  BKGI ประกอบให้บริการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ โดยนำเทคโนโลยีทางวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยที่ได้รับการถ่ายทอดจากกลุ่ม BGI ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการถอดรหัสพันธุกรรมของโลก มาใช้ในการพัฒนาการตรวจวเคราะห์ของ BKGI เพื่อให้ประชากรไทยมีสุขภาพที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

โดยลักษณะการประกอบธุรกิจ สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. ธุรกิจการให้บริการตรวจคัดกรองและวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การตรวจคัดกรองความผิดปกติทางพันธุกรรมด้านอนามัยการเจริญพันธุ์ 2) การตรวจวิเคราะห์กลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อก่อโรคโควิด-19 และการตรวจภูมิคุ้มกัน 3) การตรวจคัดกรองอื่นๆ ได้แก่ การตรวจคัดกรองกลุ่มยีนที่มีความสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง และการตรวจคัดกรองโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมอื่นๆ และ 4) การให้บริการงานด้านเทคโนโลยี

 

2. ธุรกิจการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อื่นๆ (Other Products) เช่น ชุดอุปกรณ์สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจน้ำยาตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 และน้ำยาตรวจภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด-19 และชุดอุปกรณ์สำหรับตรวจความผิดปกติทางพันธุกรรมแบบครบวงจร เป็นต้น รวมทั้งในอนาคต จะมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ให้กับลูกค้าที่ใช้บริการถอดรหัสทางพันธุกรรมเฉพาะบุคคลอย่างละเอียด ตามคำแนะนำของแพทย์