ศุภาลัย สร้างดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวใกล้กรุง ลุยพลิกฟื้นที่ดินจ.ปทุมฯ
บมจ.ศุภาลัย เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ประเทศไทยต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แท็กทีมผู้บริหารและพนักงานที่มีหัวใจรักษ์โลกและสิ่งแวดล้อมกว่า 150 ชีวิต ลงพี้นที่พลิกฟื้นที่ดินเปล่าขนาด 22 ไร่ ณ อำเภอลำสามแก้ว จังหวัดปทุมธานี ให้กลับมาเขียวชอุ่มด้วยพันธุ์ไม้ยืนต้นนานาชนิดกว่า 2400 ต้น เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวตามหลัก ESG และดูดซับการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สนับสนุนเป้าหมาย Net Zero ของประเทศไทย
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกับการสร้างโครงการที่อยู่อาศัยมาอย่างต่อเนื่อง และมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจให้อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน ซึ่งศุภาลัยพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่เป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2573 จาก BAU (Business As Usual) โดยหนึ่งในกิจกรรมที่บริษัทฯ ดำเนินการมาตลอด นั่นก็คือการลงพื้นที่ปลูกต้นไม้เพื่อพลิกฟื้นคืนสมดุลให้กับระบบนิเวศให้ผืนป่าประเทศไทย และลดผลกระทบจากปรากฏการณ์โลกร้อนที่จะตามมา ในโอกาสที่ ศุภาลัย ครบรอบ 35 ปี บริษัทฯ ได้ชวนผู้บริหารและพนักงานกว่า 150 คน ร่วมสร้างดีในกิจกรรม “ป่าสร้างสุข” เปลี่ยนพื้นที่บริเวณที่ดินเปล่า กว่า 22 ไร่ ณ อำเภอลำสามแก้ว จังหวัดปทุมธานี ให้อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้ท่ามกลางป่าคอนกรีต ซึ่งจะร่มรื่นไปด้วยไม้ยืนต้น อาทิ ตะแบก ประดู่ป่า อินทนิลน้ำ มะฮอกกานี แคนา ตีนเป็ดน้ำ หางนกยูง จามจุรี สะเดา และกระถินเทพา โดยชาวศุภาลัยได้ร่วมกันปลูกต้นไม้จำนวนมากถึง 2460 ต้น และเมื่อต้นไม้เจริญเติบโต จะสามารถช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 36000 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวและความร่มรื่นให้กับชุมชนรอบข้างพร้อมฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา บมจ.ศุภาลัย ได้ชวนผู้บริหารและพนักงานลงพื้นที่ปลูกป่าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 และ 2566 บริษัทฯ ได้ร่วมกับพันธมิตรจากโครงการ Care the Wild ทั้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรมป่าไม้ ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ผืนป่า ณ ชุมชนโคกพลวง อำเภอจักราช จังหวัดนครราชสีมา รวมพื้นที่ปลูกทั้งสิ้น 20 ไร่ โดย ณ ปัจจุบันยังคงมีชาวชุมชนบ้านโคกพลวงเป็นกำลังสำคัญในการรักษาป่า ให้อยู่รอดและเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนได้ 100% โดยชุมชนก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากผืนป่าทั้งในด้านอาหารและเปรียบเสมือนโรงเรียนธรรมชาติให้กับเยาวชนได้ศึกษา อีกทั้งสืบทอดและอนุรักษ์พันธุ์ไม้ต่อไป