สมาคมประกันชีวิตไทยจัดการบรรยายวิชาการ เรื่อง สัญญาการประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน
สมาคมประกันชีวิตไทย โดย คณะอนุกรรมการฝึกอบรมและพัฒนาช่องทางการขาย จัดบรรยายวิชาการ เรื่อง สัญญาการประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน (New health standard) ให้แก่วิทยากรของบริษัทประกันชีวิตที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการถ่ายทอดความรู้ให้กับตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต ให้สามารถนำความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนมีทักษะที่จำเป็นอย่างครบถ้วนไปประยุกต์ใช้กับการทำงานได้อย่างสอดคล้องกับ “สัญญาประกันภัยสุขภาพ แบบมาตรฐาน (New health standard) เพื่อช่วยลดข้อโต้แย้งและลดการฉ้อฉล
โดยมีการบรรยายภาพรวมของสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพ ประเภทสามัญแบบมาตรฐาน
พร้อมกับให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาวัตถุประสงค์ ประโยชน์ที่จะได้รับ สาระสำคัญของการจัดทำสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพมาตรฐานประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน (New Health Standard) พร้อมทั้งเปรียบเทียบสัญญาแบบเดิมและแบบใหม่ รวมถึงมีการเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “New Health Standard” สำคัญอย่างไร ทำไมต้องรู้ ซึ่งได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในวงการประกันชีวิต ประกอบด้วย นายแพทย์ประมุกข์ ทรงจักรแก้ว ที่ปรึกษาคณะแพทย์ที่ปรึกษา นางวัชรา สถาพรพิริยะเดช รองประธานคณะอนุกรรมการสินไหมประกันชีวิต และนางสาวดวงธิดา ไข่รักษ์ รองประธานคณะอนุกรรมการพิจารณารับประกันภัย และนายจรุง เชื้อจินดา รองผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันชีวิตไทย โดยมีนายธัญญะ ซื่อวาจา รองประธานคณะอนุกรรมการกฎหมาย เป็นผู้ดำเนินรายการ มาร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมองอันเป็นประโยชน์ในประเด็นต่าง ๆ พร้อมให้ความรู้เกี่ยวกับคำสั่งนายทะเบียนที่ 14/2564 เรื่องหลักเกณฑ์การให้ความเห็นชอบและข้อความสัญญาเพิ่มเติมการประกันภัยสุขภาพประเภทสามัญ แบบมาตรฐาน สำหรับบริษัทประกันชีวิต
ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งในส่วนคำนิยาม มาตรฐานทางการแพทย์ และความจำเป็นทางการแพทย์ ตารางผลประโยชน์ข้อตกลงคุ้มครอง หมวดมาตรฐาน 13 หมวด นิยามการผ่าตัด ผ่าตัดใหญ่ ผ่าตัดเล็ก Day Surgery ค่าธรรมเนียมแพทย์ เงื่อนไขต่าง ๆ Waiting Period การปรับเบี้ยประกันภัย และ 21 ข้อยกเว้นที่สำคัญ รวมทั้ง หลักเกณฑ์กลางในการพิจารณากำหนดรายการโรค สำหรับกลุ่มโรคป่วยเล็กน้อยทั่วไป (Simple diseases) และเงื่อนไขให้ผู้เอาประกันภัยมีค่าใช้จ่ายร่วม (Co-payment) ความรับผิดชอบส่วนแรก (Deductible) การบอกเลิก และการต่อสัญญา ซึ่งการปรับปรุงดังกล่าว เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยี วิธีการรักษาทางการแพทย์ และวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เปลี่ยนแปลงไป ให้มีความยั่งยืนเป็นธรรมและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในเรื่องการปฏิรูประบบสาธารณสุข ทำให้กรมธรรม์ประกันภัยสุขภาพสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น และสามารถใช้ความคุ้มครองดังกล่าวในการบริหารจัดการความเสี่ยงภัยทางด้านการเงินในยามที่เจ็บป่วยได้อย่างยั่งยืน โดยงานดังกล่าวจัดขึ้น ณ ห้องประชุม 701 อาคารสมาคมประกันชีวิตไทย