CEA เปิด ”TCDC” แห่งใหม่ นำร่อง 10 จังหวัด เสริมศักยภาพชุมชน พัฒนาทักษะคนรุ่นใหม่

   เมื่อ : 27 มิ.ย. 2567

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ประกาศแผนยุทธศาสตร์เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย หนุนศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและศักยภาพพร้อมแข่งขันสู่เวทีโลก ผ่านศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) 10 จังหวัด พร้อมเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ ซอฟต์พาวเวอร์ "1 ครอบครัว 1 Soft Power" หรือ "OFOS" อย่างเป็นรูปธรรม

คุณแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ‘ทุนมนุษย์’ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อ 18 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมุ่งที่จะ ‘สร้างคน เพิ่มทักษะ’ โดยนโยบายจากรัฐบาลได้เดินหน้าต่อ ผ่านโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC แห่งใหม่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือคนไทย เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาฝึกอบรมที่ TCDC ตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพของตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้าง ‘แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูง’ กว่า 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 Soft Power’ หรือ ‘OFOS’ ที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ”

 

ด้าน นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปีภายใน 4 ปี หรือคิดเป็นการเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือน เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อปี (16000 บาทต่อเดือน) ซึ่งสอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือ ‘ต้นน้ำ’ การสร้างคนด้วยการฝึกอบรมคนไทย 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ ตามนโยบาย OFOS ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มทักษะ ‘Upskill’ และ ‘Reskill’ ให้สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การสร้างรายได้จริง

 

ส่วนที่สอง คือ ‘กลางน้ำ’ การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์และยกระดับสินค้าและบริการใน 11 สาขาหลัก เช่น อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น และสุดท้ายคือ ‘ปลายน้ำ’ การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยออกไปสู่เวทีโลก โดยเน้นการนำความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความสร้างสรรค์ของคนไทยไปสร้างรายได้ในตลาดต่างประเทศ

 

ดังนั้น การขยาย TCDC อีก 10 แห่งในจังหวัดต่าง ๆ นั้น จึงจัดเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงเป็นช่องทางในการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเหล่านี้ได้เข้าถึงตลาดงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่จะช่วยเชื่อมต่อการสร้างรายได้ ตั้งแต่ระดับประชาชนฐานราก ผ่านผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศ จนกระทั่งไปสู่ตลาดโลกในที่สุด

ด้าน ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า CEA พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในฐานะ “ศูนย์กลางเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์” เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากนโยบายของรัฐบาลสู่ภาครัฐ ท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ Soft Power ใน 11 สาขาทาง

วัฒนธรรม เพื่อพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรม และสร้างเมืองและชุมชนสร้างสรรค์ทั่วประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาล 

 

โดยเราใช้ TCDC ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการกระตุ้นการเรียนรู้ สร้างโอกาสและแรงบันดาลใจ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งในโอกาสครบรอบ 20 ปี ในปี 2568 TCDC ได้ขยายการจัดตั้งพื้นที่ใหม่เพิ่มอีก 10 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ โดยร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่น อันได้แก่ 1. เชียงราย 2. นครราชสีมา 3. ปัตตานี 4. พิษณุโลก 5. แพร่  6. ภูเก็ต  7. ศรีสะเกษ 8. สุรินทร์ 9. อุตรดิตถ์ และ 10. อุบลราชธานี ซึ่งเราจะขยายสาขาตามงบประมาณและพัฒนาแต่ละสาขาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมผลักดันด้านการจัดการและสนับสนุนจนสามารถบริหารจัดการได้เอง  พร้อมกันนี้ เรายังได้ยกระดับการให้บริการด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ “Creative Lab” ให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการในการสร้างนวัตกรรม และพัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นสู่ตลาดในระดับประเทศและระดับสากล

 

“โครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทาง CEA จึงขอขอบคุณรัฐบาลที่เล็งเห็นความสำคัญของ TCDC และมีนโยบายที่จะขยายพื้นที่จัดตั้ง TCDC ไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย  ซึ่งเรามั่นใจว่าหากได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมผลักดันด้านการจัดการและสนับสนุนจนสามารถบริหารจัดการได้เองอย่างยั่งยืน”

 

“และเราเชื่อว่า TCDC แห่งใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาแรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูงกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะเป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และส่งเสริมศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของท้องถิ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป เราพร้อมผนึกกำลังร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดต่อไปในอนาคต" ดร. อรรชกา กล่าวทิ้งท้าย