วิริยะประกันภัย ยักษ์ใหญ่ประกันเบอร์ 1 ประกาศกร้าวปี 67 โกยเบี้ย 43000 ลบ. โต 6%
วิริยะประกันภัย ประกาศแผนงานปี 67 ด้วยสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง 68335 ล้านบาท ด้วยการดูแลทุกขั้นตอนของการบริการ และมอบประสบการณ์ความ คุ้มค่าให้แก่ลูกค้า ด้วยการนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนานวัตกรรมบริการใหม่ๆ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยฐานข้อมูล Big Data ที่ลงลึกตรงใจลูกค้ามากยิ่งขึ้น ส่วนผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมามีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40077 ล้านบาท ในขณะที่เป้าหมายปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 43000 ล้านบาท เติบโต 6%
นายอมร ทองชิว กรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทยังคงมุ่งมั่นพัฒนาการบริการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และ การให้บริการต่างๆ โดยยึดหลักลูกค้าเป็นศูนย์กลาง ซึ่งในปีนี้จะมุ่งเน้นไปที่การส่งมอบประสบการณ์ความคุ้มค่าให้กับลูกค้า ภายใต้แนวคิด "ปีแห่งความ มั่นคงและเป็นธรรม : มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า”
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลา 77 ปี ของการดำเนินงาน บริษัทยังคงยืนหยัดเคียงข้าง ดูแลเพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัยให้กับประชาชนในสังคม และ ตอกย้ำความมั่นคงแข็งแกร่งด้วยสินทรัพย์ที่มี อยู่ถึง 68335 ล้านบาท และ อัตราส่วนเงินกองทุน (CAR) อยู่ที่ 180% ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐานของเงินกองทุนฯ ตามที่กฎหมาย กำหนดไว้
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทยังคงครองส่วนแบ่งตลาดประกันวินาศภัย อันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 31 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 14% เช่นเดียวกันกับตลาดประกันภัยรถยนต์ที่วิริยะประกันภัย ยังครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 36 โดยมีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 22% ผลสำเร็จนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงความมั่นคง แข็งแกร่ง และ ความน่าเชื่อถือของบริษัท
ทั้งนี้ ผลประกอบการในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทมีเบี้ยประกันภัยรับตรงรวมทั้งสิ้น 40077 ล้านบาท แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยรถยนต์ 35633 ล้านบาท และ ประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 4444 ล้านบาท ซึ่งมีกำไร อยู่ที่ 3000 ล้านบาท
โดยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 43000 ล้านบาท เติบโต 6% แบ่งเป็น ประกันภัยรถยนต์ 38000 ล้านบาท เติบโต 6% และ ประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ 5000 ล้านบาท เติบโต 11% และ คาดว่า ปี 2567 จะรักษากำไรประมาณ 3000 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับปีก่อน
ทางด้านพอร์ตลงทุน ปัจจุบันมีสินทรัพย์ลงทุน อยู่ที่ 60000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนในหุ้น 29000 ล้านบาท และ พันธบัตรรัฐบาล และ เงินฝาก ประมาณ 31000 ล้านบาท โดยการลงทุนหุ้นได้รับผลกระทบจากภาวะตลาดหุ้นที่ดัชนีปรับตัวลดลง จากเดิม 1600 จุด และ ปัจจุบันลดลงมาอยู่ที่ 1400 จุด ส่งผลให้มูลค่าหุ้นปรับตัวลดลง 6%
ซึ่งการลงทุนหุ้นบริษัทยังไม่มีนโยบายปรับพอร์ต หรือ เพิ่มการลงทุนหุ้น เนื่องจากสภาวะตลาดหุ้นยังไม่เอื้ออำนวย ในขณะที่พันธบัตร และ เงินฝาก ได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลให้ผลตอบแทนจากการลงทุน(IRR) สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 4.4% โดยคาดว่า ปี 2567 ก็จะทรงตัวในระดับดังกล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังคงยึดมั่นนโยบาย “ความเป็นธรรม คือ นโยบาย" ซึ่งความเป็นธรรมนี้ยังถูกปลูกฝัง และ หยั่งรากลึกไปถึงบุคลากรของบริษัทฯจากรุ่นสู่รุ่น จากพี่สู่น้อง ซึ่งปัจจุบันวิริยะประกันภัยมีพนักงานกว่า 6700 คน ทั่วประเทศ ทั้งบุคลากรงานส่วนหลัง และ บุคลากรส่วนหน้าที่คอยให้บริการลูกค้า
โดยบริษัทให้ความสำคัญในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการ และ การดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระบวนการจัดการด้านสินไหมทดแทน ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของงานบริการประกันภัย เพื่อผู้เอาประกันภัยได้รับการบริการอย่างเป็นธรรม และ เกิดความพึงพอใจอย่างสูงสุดทั้งในเรื่องของคุณภาพบริการ และ การดำเนินการที่รวดเร็วมีประสิทธิภาพในทุกขั้นตอน
“ในช่วงที่เราประสบกับสถานการณ์โควิต 19 ที่ผ่านมานั้น บริษัทยังคงยืนหยัดดูแลผู้เอาประกันภัย โดยไม่ขาดตกบกพร่อง ประกอบกับ วิริยะประกันภัย มีสินทรัพย์สภาพคล่อง และ เงินกองทุนเพียงพอ จึงสามารถดูแลเคียงข้างผู้เอาประกันภัย และ จ่ายสินไหมทดแทนจนถึงกรมธรรม์ฉบับสุดท้ายในช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา โดยมีการจ่ายสินไหมทดแทนไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท”นายอมร กล่าว
นายสยม โรหิตเสถียร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางด้านประกันภัยรถยนต์ (Motor) ในปีที่ผ่านมาบริษัทมีการพัฒนางานบริการด้านสินไหมทดแทน และ งานรับประกันภัยที่สำคัญในหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านระบบงาน โดยบริษัทมีการพัฒนา ทบทวน ปรับปรุง Redesign ระบบงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านสินไหมทดแทน และ รับประกันภัย ให้กระชับ สะดวก รวดเร็ว และ มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง บริษัทจึงได้จัดอบรมความรู้หลักสูตร เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ให้กับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ เจ้าหน้าที่สรุปความเสียหาย รวมไปถึงบริษัทคู่ค้า ตัวแทนประกันวินาศภัย และ ศูนย์ซ่อมมาตรฐานของวิริยะประกันภัยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้าได้อย่างมืออาชีพอีกด้วย
โดยปี 2566 บริษัทมีเบี้ยประกันรถยนต์ EV ประมาณ 400 ล้านบาท และ ในปี 2567 บริษัทไม่ได้ตั้งเป้าเบี้ยประกันรถยนต์ EV เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนของตลาด ซึ่งราคาเบี้ยประกันรถยนต์ EV จะสูงกว่ารถยนต์สันดาปประมาณ 10-15%
นางฐวิกาญจน์ เตชทวีทรัพย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิริยะ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทางด้านประกันภัยที่ไม่ใช่รถยนต์ (Non-Motor) ปี 2567 บริษัทยังคงมุ่งเน้นดูแล และ พัฒนาการให้บริการลูกค้าเป็นสำคัญเพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีเหนือความคาดหวังของลูกค้าทุกท่าน ควบคู่ไปกับการบริหารความเสี่ยงที่เป็นธรรม ทั้งยังสอดรับปรัชญาในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่มั่นคง โปร่งใส จริงใจ และ เป็นธรรม
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการวางแผนขยายประกันภัย Non-Motor ให้เติบโตเพิ่มขึ้น 11% โดยจะมุ่งเน้นไปที่การรับประกันความเสี่ยงภัยรายย่อยด้านส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ ประกันภัยการเดินทาง ประกันภัยบ้าน และ ประกันภัยความรับผิด
สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของประกันสุขภาพส่วนบุคคล เป็นไปในทิศทางบวกเพิ่มขึ้น 11.48% สอดคล้องกับภาพรวมของตลาดที่คนไทยตระหนักถึงประโยชน์ของประกันสุขภาพมากขึ้น และ ในส่วนของการเติบโตภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว บริษัทได้มีการพัฒนาปรับปรุงแผนประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ V Travel Comprehensive เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าได้อย่างครอบคลุมหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันในขณะเดินทาง และ ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ที่ยังคงเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นและ ระดับประเทศ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโต และ แนวโน้มที่สดใสส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ประกันภัยความรับผิดของผู้ขนส่งเติบโตอย่างต่อเนื่อง และบริษัทมี Network ที่ครอบคลุม และความพร้อมด้านบริการ
ทางด้านแนวทางการดำเนินงานในปี 2567 บริษัทให้ความสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย สุขภาพส่วนบุคคล ประกันสุขภาพเฉพาะโรค และ ประกันภัยโรคร้ายแรง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพิ่มความคุ้มครอง และ บริการที่เกี่ยวข้อง มุ่งเน้นการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน และ ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของลูกค้า (Good Health and Wellbeing)
นอกจากนี้ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ประกันภัยเดินทางเพื่อให้สอดคล้องกับภาพรวมการท่องเที่ยวที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ตลอดไปจนถึงการพัฒนาประกันภัย Carrier Liability Insurance Cyber Security Insurance และ Professional Liability Insurance ด้วยการออกแบบ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการในแต่ละประเภทธุรกิจ
ในส่วนของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบงาน Non-Motor บริษัทฯ มี Roadmap ในการพัฒนาระบบ New Core System โดยมีการเริ่มใช้งานระบบ New Core Phase 1 ในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยการเดินทาง เมื่อช่วงธันวาคม 2566 และ Phase ต่อไปในปี 2567 จะเป็นในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุ เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพระบบการบริการ ประกันภัย และ สินไหมรองรับการเติบโตของบริษัท