กรุงศรี เปิดครึ่งปีแรกกำไร 67 จำนวน 1.57 หมื่นล้าน กำไรหด 7.9%

   เมื่อ : 19 ก.ค. 2567

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ) รายงานผลประกอบการครึ่งแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิจำนวน 15.75 พันล้านบาท ลดลง 7.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหลักมาจากการตั้งสำรองที่รอบคอบระมัดระวัง ขณะที่กำไรจากการดำเนินงานเติบโตจากการรับรู้รายได้เต็มจำนวนจากบริษัทลูกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ควบรวมมาในปี 2566 และกำไรจากการดำเนินงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น

 

กรุงศรียังคงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างเคร่งครัด ในครึ่งแรกของปี 2567 การเติบโตโดยรวมของเงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอยู่ที่ 0.8% สะท้อนแรงสนับสนุนต่อความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจ ขณะที่สินเชื่อเพื่อรายย่อยปรับตัวลดลง 3.5% ตอกย้ำนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดรัดกุมภายใต้บริบทที่ภาระหนี้ของลูกหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เงินให้สินเชื่อรวมลดลง 1.3%

 

สรุปผลประกอบการและฐานะการเงินที่สำคัญสำหรับครึ่งแรกของปี 2567

 

กำไรสุทธิ จำนวน 15752 ล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ลดลง 7.9% หรือจำนวน 1350 ล้านบาท จากครึ่งแรกของปี 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ตามการตั้งสำรองที่รอบคอบระมัดระวัง ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานเติบโตที่ 26.0% หรือจำนวน 9128 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า จากการรับรู้รายได้เต็มจำนวนจากบริษัทลูกในภูมิภาคอาเซียนที่ได้ควบรวมมาในปี 2566 และกำไรจากการดำเนินงานในประเทศที่เพิ่มขึ้น
 

เงินให้สินเชื่อรวม ลดลง 1.3% หรือจำนวน 25273 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยบางส่วนมาจากสินเชื่อเพื่อรายย่อยที่ปรับตัวลดลง 3.5% ตอกย้ำนโยบายการให้สินเชื่อที่เข้มงวดรัดกุมภายใต้บริบทที่ภาระหนี้ของลูกหนี้ยังคงอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อเพื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยังมีการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ 0.8% จากแรงสนับสนุนต่อความต้องการเงินทุนหมุนเวียนของภาคธุรกิจในช่วงครึ่งแรกของปี
 

เงินรับฝาก เพิ่มขึ้น 4.2% หรือจำนวน 76787 ล้านบาท จากสิ้นเดือนธันวาคม 2566 โดยมีปัจจัยหลักมาจากเงินรับฝากประจำ
 

ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) เร่งตัวขึ้นมาอยู่ที่ 4.31% จาก 3.52% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566  โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนส่วนหนึ่งมาจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในปี 2566 แม้ต้นทุนทางการเงินจะเพิ่มขึ้นก็ตาม
 

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 26.6% หรือจำนวน 4708 ล้านบาท จากช่วงครึ่งแรกของปี 2566 ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจากการควบรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในต่างประเทศในปี 2566 การเพิ่มขึ้นของค่าธรรมเนียมจากการเป็นตัวแทนจำหน่ายประกันภายในประเทศ การเพิ่มขึ้นของหนี้สูญรับคืน และกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน 
 

อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ อยู่ที่ 43.3% ปรับตัวดีขึ้นจาก 43.6% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566
 

อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.05% ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 243 เบสิสพอยท์ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 128.8% 

 

อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (ของธนาคาร) อยู่ที่ 17.87% เทียบกับ 18.24%
ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2566
 

นายเคนอิจิ ยามาโตะ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปี 2567 ยังคงมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากภาคการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง กอปรกับการส่งออกที่เริ่มเติบโตตามสภาวะเศรษฐกิจของคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แรงส่งของเศรษฐกิจไทยยังถูกจำกัดจากการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายภาครัฐและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยภาพรวม รวมถึงข้อจำกัดจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังคงอยู่ในระดับสูง”

 

“ภายใต้บริบทความท้าทายดังกล่าว กรุงศรียังคงมีบทบาทที่สำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงปฏิบัติตามมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรมของธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อต้นปีที่ผ่านมาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ธนาคารคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งปีที่ 2.4% ภายใต้สมมุติฐานว่ากิจกรรมเศรษฐกิจไทยจะเร่งตัวขึ้นในครึ่งหลังของปี 2567”

 

ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 กรุงศรี ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับห้าในระบบเศรษฐกิจไทยจากมูลค่าสินทรัพย์ สินเชื่อและเงินรับฝาก และเป็นหนึ่งในสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบ (D-SIB) มีสินเชื่อรวม 1.99 ล้านล้านบาท เงินรับฝาก 1.92 ล้านล้านบาท และสินทรัพย์รวม 2.77 ล้านล้านบาท ขณะที่เงินกองทุนของธนาคารอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 307.83 พันล้านบาท หรือเทียบเท่า 17.87% ของสินทรัพย์เสี่ยง โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของคิดเป็น 13.75%