ส.ประกันชีวิตไทย ปิดครึ่งปีแรก 67 โกยเบี้ยรวมโต 3.8% มั่นใจสิ้นปีโต 2-4% ตามเป้า

   เมื่อ : 31 ก.ค. 2567

สมาคมประกันชีวิตไทย เผยปีนี้เบี้ยประกันภัยรับรวมโตตามเป้า 2-4% หลังครึ่งปีโต 3.8% ชี้ประกันสุขภาพยังเติบโตต่อเนื่อง จับตาเศรษฐกิจโลก-ไทยใกล้ชิด หลังยังมีความผันผวน 

 

นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในช่วงครึ่งแรกปี 2567 ระหว่าง มกราคม – มิถุนายน มีเบี้ยประกันภัยรับรวม (Total Premium) อยู่ที่ 311413.63 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.80% เมื่อเทียบกับปี 2566 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ (New Business Premium) 88332.86 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.76% และ เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป (Renewal Premium) 223080.77 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 4.63% และ มีอัตราความคงอยู่ 83%

 

สำหรับเบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ ประกอบด้วยเบี้ยประกันภัยรับปีแรก (First Year Premium) 58266.84 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 3.21% เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียว (Single Premium) 30066.02 ล้านบาท เติบโตลดลง 0.92%

 

แต่หากจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่าย ดังนี้

 

1. การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) เบี้ยประกันภัยรับรวม อยู่ที่ 155522.29 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 1.98% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 49.94%

 

2. การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) เบี้ยประกันภัยรับรวม อยู่ที่ 122507.58 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 4.28% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 39.34%

 

3. การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) เบี้ยประกันภัยรับรวม อยู่ที่ 18874.47 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 13.42% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 6.06%

 

4. การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) เบี้ยประกันภัยรับรวม อยู่ที่ 6269.10 อัตราการเติบโตติดลบ 8.43% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 2.01%

 

5. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล( Digital) เบี้ยประกันภัยรับรวม อยู่ที่ 585.12 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 21.38% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 0.19%

 

6. การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขาย Worksite Walkin การขายผ่านการออกบูธ การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ Direct Mail Tele Marketing เป็นต้น เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 7647.11ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 26.72% เมื่อเทียบกับปี 2566 คิดเป็นสัดส่วน 2.46%

 

สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ได้รับความนิยมและ มีอัตราการเติบโตมากขึ้นในช่วงครึ่งแรก ปี 67 คือ สัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพ ที่มีเบี้ยประกันภัยรับรวม อยู่ที่ 51450.58 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 14.33% คิดเป็นสัดส่วน 16.52% ซึ่งหลัก ๆ มาจากการที่ประชาชนใส่ใจดูแลสุขภาพ และ เริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการทำประกันสุขภาพมากขึ้น เพื่อบริหารความเสี่ยงและ รับมือกับค่ารักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (Medical Inflation)

 

ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบบำนาญ (Pension) ก็ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นอย่างมาก โดยครึ่งแรก ปี 67 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม อยู่ที่ 5699.48. ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 11.25% หรือ คิดเป็นสัดส่วน 1.83% 

 

ส่วนในปี 2567 สมาคมประกันชีวิตไทยได้ประมาณการอัตราการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ในช่วง 2-4% ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2567 ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดการณ์ไว้ที่ 2.5%

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากกระแสคนรักสุขภาพ เนื่องมาจากการที่ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบของการเกิดโรคอุบัติใหม่ และมลภาวะ รวมถึงแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ และ มีการทำประกันสุขภาพมากขึ้น รวมถึงการที่ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aged Society) อย่างเต็มตัว ทำให้ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินช่วงวัยเกษียณกันมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นรูปแบบการออมประเภทหนึ่งที่มีความเสี่ยงต่ำแล้ว ยังได้รับความคุ้มครองชีวิต และ สิทธิการลดหย่อนภาษีที่ทางภาครัฐให้การสนับสนุน

 

ทั้งนี้ ภาคธุรกิจยังได้มีนโยบายสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี เช่น AI และ Data Analytics เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน และ สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ การเสนอขาย การพิจารณารับประกันภัย การพิจารณาสินไหมไปจนถึงการส่งมอบบริการ และ ธุรกรรมหลังการขายที่เกี่ยวข้องกับกรมธรรม์ เพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้เอาประกันภัยให้เพิ่มสูงขึ้น

 

ในขณะเดียวกันธุรกิจประกันชีวิตยังคงต้องติดตามแนวโน้ม และ ความผันผวน ของสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องอัตราดอกเบี้ย สถานการณ์เงินเฟ้อ และตลาดหุ้นไทย ที่ส่งผลกระทบต่อการออม การลงทุน และ ภาระหนี้สินภาคครัวเรือนที่ส่งผลต่อการใช้จ่ายของภาคประชาชน รวมถึงต้องติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และ การเกิดโรคอุบัติใหม่ เพราะส่งผลต่อความต้องการ และ ความเชื่อมั่นของภาคประชาชนที่มีต่อธุรกิจประกันชีวิตโดยตรง

 

"เรายังมั่นใจว่า ปีนี้เป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมตามเป้าในกรอบ 2-4% หลัง 6 เดือนโตไปแล้ว 3.8% โดยประกันสุขภาพยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง และ ในครึ่งปีหลังก็คาดว่า จะเติบโตต่อเนื่องได้ แม้จะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งเศรษฐกิจในประเทศ และ ต่างประเทศที่ยังมีความผันผวน และ กำลังซื้อประชาชนที่ลดลง โดยเฉพาะฐานล่าง"นางนุสรา กล่าว

 

ดังนั้น สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน โดยนำแนวคิดการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน (ESG) มาประยุกต์ใช้ในการประกอบการพิจารณาลงทุน การออกแบบ และ พัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต รวมถึงการบริการที่สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการภาคประชาชนและสังคมในทุกด้าน ทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม (Environment) มิติของสังคม (Social) และ มิติของการกำกับดูแล (Governance) เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตมีหลักธรรมมาภิบาลสามารถเติบโตอย่างความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ สมาคมฯ มีนโยบายในการสนับสนุนในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาใช้พัฒนากระบวนการต่าง ๆ ของธุรกิจประกันชีวิต เพื่อยกระดับความพึงพอใจ และ ความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยให้มากขึ้น มีการส่งเสริมให้ความรู้แก่ประชาชน เช่น เรื่องการรู้เท่าทันของเทคโนโลยีและภัยไซเบอร์ เพื่อช่วยปกป้องผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัย 

 

รวมถึงมีนโยบายเชิงรุกในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้เป็นปัจจุบัน โดยทางสมาคม ฯ จะเป็นแกนกลางในการประสานพันธกิจทั้งในรูปแบบประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นระหว่างบริษัทประกันชีวิต กับ หน่วยงานกำกับดูแล รวมถึงจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยที่มีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด 

 

พร้อมทั้งผลักดันระบบการจัดสอบและอบรมความรู้ ระบบออกใบอนุญาตตัวแทนประกันชีวิตในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทั้งบริษัทสมาชิก และ บุคคลทั่วไปที่สนใจสมัครสอบเข้าสู่เส้นทางอาชีพตัวแทนประกันชีวิต

 

ประกอบกับ สมาคมฯ มีนโยบายที่มุ่งให้แต่ละบริษัทประกันชีวิต มีแนวทางการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงการบริหาร และ จัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้านทั้งก่อน และ หลังการรับประกันภัย และ มีฐานะทางการเงินที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (CAR Ratio) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Supervisory CAR) เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่า บริษัทประกันชีวิตสามารถปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยได้ทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และ พร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา 

 

โดยเห็นได้จาก ในไตรมาสที่ 1/67 จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ภาคธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราส่วนความพอเพียงของเงินกองทุนตามความเสี่ยง อยู่ที่ 384.21% ซึ่งสูงกว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนที่ใช้ในการกำกับ (Supervisory CAR) จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยเชื่อมั่นว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และ ยึดมั่นคำสัญญาตามข้อผูกพันในกรมธรรม์ประกันชีวิตทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย

 

นอกจากนี้ ทางสมาคมประกันชีวิตไทย จีดการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2567 วันที่ 31 กรกฏาคม 2567 โดยมีวาระสำคัญ คือ การพิจารณาเลือกตั้งนายกสมาคมประกันชีวิตไทย และ คณะกรรมการบริหาสมาคมชุดใหม่ ประจำปีบริหาร 2567-2569( 1 กรกฏาคม 2567 - 30 มิถุนายน 2569 ) ซึ่งในที่ประชุมได้มีการลงมติอย่างเป็นเอกฉันท์เลือก นางนุสรา(อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ให้ดำรงตำแหน่ง นายกประกันชีวิตไทย