CFARM พร้อมขยายธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ ย้ำปี 67 รายได้ทรงตัว
บมจ.ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) หรือ CFARM ตอกย้ำรายได้ปี 67 ทรงตัวจากปี 66 หลังส่งมอบไก่ให้คู่สัญญาต่อเนื่อง น้ำหนักไก่ตามมาตรฐาน ควบคุมต้นทุนดีเยี่ยม และราคาขายสูงขึ้นกว่าครึ่งปีแรก นอกจากนี้กำลังศึกษาขยายธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสการเติบโตของธุรกิจ
นางสาวมธุชา จึงธนสมบูรณ์ รองกรรมการผู้จัดการสายงานการจัดการ บริษัท ชูวิทย์ฟาร์ม (2019) จำกัด (มหาชน) หรือ CFARM ประกอบธุรกิจฟาร์มปศุสัตว์ ประเภทฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อให้กับคู่สัญญาในรูปแบบเกษตรพันธสัญญาแบบประกันราคา เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานครึ่งปีหลัง 2567 ว่าเป้าหมายทั้งปี 2567 บริษัทยังคงเป้าหมายมีรายได้รวบใกล้เคียงปี 2566 โดยเป็นไปตามการบริโภคที่มีมากขึ้นโดยแต่ละปีก็มีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 3-4% จากเป็นโปรตีนที่มีราคาถูก และภาคส่งออกไก่ของไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันกำลังขยับขึ้นเป็นอันดับ 3 ของโลก พร้อมทั้งความสามารถในการทำกำไรจะยืนสูงเมื่อเทียบกับปี 2566 หลังบริหารต้นทุนโดยรวมได้ดี
โดยในไตรมาส 3/2567 แนวโน้มผลการดำเนินงานจะปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งมอบไก่ให้กับคู่สัญญาหลัก ยังเป็นไปตามมาตรฐาน และมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น ทั้งขั้นตอนการเลี้ยง ต้นทุน และค่าใช้จ่ายทุกภาค ส่วนช่วงไตรมาส 4/2567 มองว่ายังคงดำเนินธุรกิจได้ดีตามแผนตามที่กล่าวข้างต้น ดังนั้นว่าภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 จะดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากผลการดำเนินงานโดยรวมดีขึ้น และปกติแล้วรอบการเลี้ยงมากกว่า(5รอบปีต่อ หรือ 40-45 วันขาย)
“ในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 2567 บริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างการเติบโตได้ แม้มีฐานการผลิตเท่าเดิม เนื่องจากมีอัตราการเลี้ยงรอดที่ดีกว่าเกณฑ์ 96% และน้ำหนักตัวไก่ดีกว่าที่ 2.8-3 กิโลกรัม (ตลาดเฉลี่ย 2.7-2.8 กก.) และอัตราการกินอาหารของไก่น้อยลงสวนทางน้ำหนักตัวไก่ที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนอาหารลดลงด้วย และราคาขายที่สูงกว่าครึ่งปีแรก” นางสาวมธุชากล่าว
สำหรับความคืบหน้าของการขยายฟาร์มเลี้ยงไก่ บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจา เพื่อรับสัญญาจากผู้ประกอบการจากคู่สัญญาทั้งรายเดิม และรายใหม่เพิ่มเติม โดยบริษัทจะพิจารณาตามความต้องการของตลาด และสัญญาที่ให้กำไรกับทางบริษัทมากที่สุด ขณะเดียวกันก็อยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มโรงเรือนและก่อสร้างฟาร์มใหม่ในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งแต่ละฟาร์มจะมีงบลงทุนและขนาดต่างกันไป เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถสรุป และเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงไตรมาส 1/2568 ซึ่งจะทำให้ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านตัว หรือประมาณ 17 ล้านตัวต่อปี
นางสาวมธุชากล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาหาโอกาส และพิจารณาการลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือธุรกิจปศุสัตว์ทางเลือกใหม่ เบื้องต้นกำลังเจรจากับพันธมิตรทั้งในเรื่องรายละเอียด และข้อสรุปต่างๆ คาดว่าจะประกาศได้ภายในไตรมาส 4/2567