PwC คาดรายได้อุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อไทยแตะ 6.9 แสนล้านบาทในปี 67

   เมื่อ : 20 ส.ค. 2567

PwC คาดการณ์รายได้รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อของไทยในปี 67 จะอยู่ที่ 6.9 แสนล้านบาท เติบโตราว 4% จากปีก่อน พร้อมคาดรายได้รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมในอีกห้าปีข้างหน้าจะเพิ่มเป็นเกือบ 8 แสนล้านบาท เหตุธุรกิจสตรีมมิ่งและโฆษณาออนไลน์ช่วยหนุนการเติบโตของตลาด แนะผู้ประกอบการปรับตัวให้ทันกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งควรดึง GenAI มาช่วยในการวิเคราะห์รูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

 

แม้ว่าในปีนี้ประเทศไทยจะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัว ปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศ การเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งการแข่งขันทางภูมิศาสตร์และอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลจากรายงาน Global Entertainment & Media (E&M) Outlook 2024-2028 ของ PwC คาดการณ์ว่า รายได้รวมของอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อของประเทศไทยจะเพิ่มขึ้น 4% เป็น 691375 ล้านบาทในปี 2567 จากปีก่อนที่ 664204 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ รายงานของ PwC ซึ่งสำรวจข้อมูลด้านรายได้และคาดการณ์ทิศทางการเติบโตของ 11 กลุ่มอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อใน 53 ประเทศและอาณาเขตทั่วโลกระบุว่า รายได้รวมของอุตสาหกรรมความสื่อและบันเทิงของไทยจะสูงถึง 793020 ล้านบาทในปี 2571 หรือคิดเป็นการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (compound annual growth rate: CAGR) ที่ 3.5%

 

นางสาว ธิตินันท์ แว่นแก้ว หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า “อุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อของไทยจะยังสามารถเติบโตได้ในปีนี้แม้ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากแนวโน้มเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว โดยธุรกิจในบางเซ็กเมนต์จะเติบโตสูงตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันไปใช้อินเทอร์เน็ตและแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น”

 

ข้อมูลจากรายงานของ PwC ระบุว่า บริการวิดีโอแบบ over-the-top  (เติบโต 27% จากปีก่อนมาที่ 28043 ล้านบาท) โฆษณาออนไลน์ หรือโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต (เติบโต 13% จากปีก่อนมาที่ 58358 ล้านบาท) และโฆษณานอกบ้าน (เติบโต 8% จากปีก่อนมาที่ 17286 ล้านบาท) จะเป็นประเภทของธุรกิจความบันเทิงและสื่อของไทยที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดสามอันดับแรกในปี 2567 ผู้ให้บริการธุรกิจสตรีมมิ่งต้องไม่หยุดปรับตัว

 

นางสาว ธิตินันท์ กล่าวต่อว่า ผลพวงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมาใช้งานอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้บริการสื่อประเภท over-the-top โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิดีโอสตรีมมิ่ง รวมไปถึงโฆษณาออนไลน์ เป็นสองเซ็กเมนต์ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี อัตราเร่งของการเติบโตน่าจะค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากผู้ให้บริการกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งในส่วนของคอนเทนต์และการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ ๆ รวมไปถึงความท้าทายในการทำให้ผู้บริโภคยอมจ่ายเงินสำหรับสินค้าและบริการดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น นางสาว ธิตินันท์ กล่าว

 

“ในระยะถัดไปสตรีมเมอร์คงจะต้องมีการปรับรูปแบบธุรกิจและแสวงหารายได้ใหม่ ๆ นอกเหนือจากการสมัครสมาชิก รวมถึงการเปิดตัวรูปแบบตามโฆษณา การลดค่าธรรมเนียมการสมัครสมาชิก และอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งโอกาสในการควบรวมกิจการของผู้ให้บริการสมัครสมาชิกจากการแข่งขันที่จะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ” เธอ กล่าว

 

ข้อมูลจากรายงานของ PwC ระบุว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของรายได้บริการสื่อประเภท over-the-top ลดลงจาก 57% (ช่วงปี 2562-2566) เหลือ 10.7% (ช่วงปี 2567-2571) ขณะที่รายได้รวมจะเพิ่มเป็น 42122 ล้านบาทในปี 2571

 

นอกจากนี้ รายได้โฆษณาออนไลน์ หรือโฆษณาทางอินเทอร์เน็ตของไทยในปี 2571 คาดจะเพิ่มเป็น 85242 ล้านบาท จาก 51551 ล้านบาทในปี 2566 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 10% (ช่วงปี 2567-2571) โดยนางสาว ธิตินันท์ กล่าวว่า สาเหตุสำคัญของการเติบโตเนื่องจากผู้บริโภคนิยมใช้งานอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียในการค้นคว้าและศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์สินค้า ซึ่งถือเป็นช่องทางสำคัญที่นักโฆษณาใช้ถึงเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย

 

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายงาน Digital 2024: Thailand ที่จัดทำโดย We Are Social และ Meltwater ระบุว่า ในช่วงต้นปี 2567 มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในไทยจำนวนทั้งสิ้น 63.21 ล้านคน หรือคิดเป็นอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่ 88% ขณะที่มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียที่ 49.10 ล้านคน คิดเป็น 68.3% ของประชากรทั้งหมด

 

“ในระยะกลางถึงยาว ประเทศไทยจะยังคงเผชิญกับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง รวมไปถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง GenAI ซึ่งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมความบันเทิงและสื่อควรต้องมองหารูปแบบธุรกิจใหม่ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้ โดยการดึงเทคโนโลยีอย่าง GenAI เข้ามาใช้ในการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการผลิตคอนเทนต์ที่มีความหลากหลายและตรงกับความสนใจของกลุ่มเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย การสร้างสรรค์งานโฆษณา หรืองานดนตรี  รวมถึงการวิเคราะห์โซลูชันใหม่ จะช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อกับผู้บริโภคในทุกแพลตฟอร์มได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น” นางสาว ธิตินันท์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ในระดับโลกโฆษณาทางอินเทอร์เน็ต เป็นองค์ประกอบที่ใหญ่ที่สุดและเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เติบโตเร็วที่สุดของอุตสาหกรรมโฆษณา โดยเติบโต 10.1% ในปี 2566 และคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 9.5% จนถึงปี 2571 ซึ่งคิดเป็น 77.1% ของการใช้จ่ายโฆษณาทั้งหมด