รักไร้ความหมาย ถ้าไร้ทะเบียนสมรส: เอกสารทางกฎหมายที่ไม่ใช่กระดาษแผ่นเดียว

   เมื่อ : 03 ก.ย. 2567

ในสังคมปัจจุบัน พบว่ามีคู่รักหลายคู่ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส อาจเป็นเพราะความเชื่อส่วนบุคคล เหตุผลเรื่องความคล่องตัวในการทำธุรกิจหรือธุรกรรมต่างๆ กฎหมายรองรับคู่รักเพศทางเลือกที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ หรือแม้แต่การไม่เห็นความสำคัญของการจดทะเบียนสมรส แต่สิ่งที่คู่รักหลายคู่มักมองข้ามไป คือ ผลทางกฎหมายที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่จดทะเบียนสมรส

 

นายพีระพัฒน์ เหรียญประยูร Managing Director Wealth Planning and Non-Capital Market Head Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า เมื่อคน 2 คน ตัดสินใจใช้ชีวิตร่วมกัน โดยไม่จดทะเบียนสมรสนั้น ในฐานะผู้ให้บริการบริหารทรัพย์สินครอบครัวมองว่าการไม่จดทะเบียนสมรส มีทั้งข้อดีและข้อเสีย สำหรับข้อดี เช่น มีความคล่องตัวในการทำนิติกรรม ลดความเสี่ยงเรื่องหนี้สินร่วม แต่ข้อเสียที่สำคัญคือ ขาดการรับรองทางกฎหมายในด้านต่างๆ เช่น สิทธิในการได้รับสวัสดิการตามกฎหมายในฐานะคู่สมรส สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้และยกเว้นภาษีการให้บางส่วน สิทธิในการรับมรดกและยกเว้นภาษีการรับมรดกในฐานะคู่สมรส การฟ้องร้องคดีและเรียกค่าเสียหายแทนกัน หรือการตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น การเจ็บป่วยหนัก หรือการจากไปของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ก่อนที่คู่รักจะตัดสินใจว่าจะจดทะเบียนสมรสหรือไม่ ควรพิจารณาให้รอบคอบและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เช่น ทนายความ หรือที่ปรึกษาครอบครัว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและเหมาะสมกับความต้องการ

 

เจ็บป่วยแล้วจะทำอย่างไร? เมื่อไม่มีสิทธิตัดสินใจเรื่องการรักษา

 

ในกรณีที่คู่ชีวิตป่วยหนักและไม่สามารถตัดสินใจเรื่องการรักษาได้เอง บุคคลที่มีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาและลงนามยินยอมให้ทำการรักษา โดยทั่วไปจะเป็นคู่สมรสที่จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย ดังนั้น หากคู่ชีวิตไม่ได้จดทะเบียนสมรส ก็จะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนในเรื่องนี้ โดยสิทธิดังกล่าวจะตกเป็นของญาติที่ใกล้ชิดที่สุด โดยทั่วไปจะเป็นบุตรที่บรรลุนิติภาวะ บิดา มารดา หรือพี่น้องที่บรรลุนิติภาวะ โดยจะพิจารณาจากผู้ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดและมีความสามารถในการตัดสินใจ ซึ่งอาจส่งผลให้การรักษาพยาบาลล่าช้าหรือไม่เป็นไปตามที่คู่ชีวิตต้องการ หรืออาจเกิดความขัดแย้งระหว่างคู่ชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวหากมีความเห็นไม่ตรงกัน นอกจากนี้ คู่ที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส แม้จะมีสิทธิในการเข้าเยี่ยมผู้ป่วย แต่อาจถูกจำกัดในบางสถานการณ์ เช่น หากญาติตามกฎหมายของผู้ป่วยไม่ยินยอมให้เข้าเยี่ยม โรงพยาบาล   มักพิจารณาความเห็นของญาติเหล่านั้น ซึ่งคู่รักของผู้ป่วยต้องแสดงหลักฐานความสัมพันธ์กับผู้ป่วยและความจำเป็น โรงพยาบาลจึงอาจพิจารณาอนุญาตให้เข้าเยี่ยมได้ เป็นต้น

 

จากไปแล้วใครจะดูแล? ปัญหาทรัพย์สินของคู่รักที่ไม่ได้จดทะเบียน

 

ในกรณีที่คู่ชีวิตเสียชีวิต หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือทำพินัยกรรมระบุไว้ ตามกฎหมายไทย ทรัพย์มรดกจะตกเป็นของทายาทโดยธรรม เช่น บุตร บิดามารดา พี่น้อง ตามลำดับความใกล้ชิด โดยคู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสจะไม่มีสิทธิรับมรดกในฐานะคู่สมรส แม้ว่าจะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันและสร้างทรัพย์สินมาด้วยกันก็ตาม ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อาจพิจารณาจดทะเบียนสมรส ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ง่ายและชัดเจนที่สุด เนื่องจากการจดทะเบียนสมรส จะทำให้คู่ชีวิตมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย

 

สำหรับคู่รักที่ไม่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรส

หากคู่ไหนไม่ต้องการจดทะเบียนสมรส หรืออยู่ระหว่างรอกฎหมายรองรับการสมรสของเพศเดียวกันใช้บังคับ อาจพิจารณาดำเนินการด้วยวิธีอื่นๆ เช่น การทำข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักฐานแสดงเจตนาในการจัดการทรัพย์สินของทั้งสองฝ่าย การทำพินัยกรรมเพื่อระบุความต้องการที่จะมอบทรัพย์สินให้แก่คู่ชีวิต การทำพินัยกรรมชีวิต (Living Will) กำหนดบุคคลที่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องการรักษาพยาบาล หรือหากคู่ไหนตัดสินใจจะจดทะเบียนสมรสกัน ก็สามารถทำสัญญาก่อนสมรสเพื่อลดความกังวลเรื่องทรัพย์สินระหว่างกันก่อนจดทะเบียนสมรสได้ ทั้งนี้ ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อวางแผนและจัดการเรื่องทรัพย์สินและสิทธิต่างๆ ให้เหมาะสมก่อนตัดสินใจ

 

นายพีระพัฒน์ กล่าวในตอนท้ายว่า การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันของคู่รักโดยไม่จดทะเบียนสมรส อาจนำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมายที่คาดไม่ถึงได้ รวมทั้งอาจก่อให้เกิดความขัดแย้งและสูญเสียตามมา ดังนั้น ก่อนตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตคู่ ควรศึกษาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต เพื่อให้ชีวิตคู่มีความสุขและราบรื่น