ALPHAX ควักเงินสด กว่า 600 ลบ. ซื้อเขื่อนสัมปทานรัฐบาลลาว 30 ปี
บอร์ด ALPHAX อนุมัติให้ส่งบริษัทย่อย เข้าซื้อหุ้น 100% มูลค่า 595.73 ล้านบาท ในบริษัท น้ำฮุง1 ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด เจ้าของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ขนาดกำลังการผลิต 15 MW ใน สปป.ลาว ฟากซีอีโอ “ธีร ชุติวราภรณ์” ลั่น พร้อมรุกธุรกิจพลังงานทดแทนเต็มสปีด เพื่อเพิ่มแหล่งรายได้และกำไรใหม่ ระบุโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพ สร้างผลตอบแทนในอนาคตเติบโตก้าวกระโดด
นายธีร ชุติวราภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลฟ่า ดิวิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ALPHAX เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ALPHAX เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท อัลฟ่า พาวเวอร์ดีเวลลอปเมนท์ (ลาว) จำกัด (APDL) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บริษัท อัลฟ่า พาวเวอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เข้าซื้อหุ้นสามัญ บริษัท น้ำฮุง1 ไฮโดรพาวเวอร์ จำกัด (NH1) จาก AKASAYSOK Power Sole Co. Ltd. จำนวนรวม 17420000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 50000 กีบ ในราคาซื้อขายรวม 16500000 เหรียญสหรัฐอเมริกา หรือเทียบเท่าไม่เกิน 595730850 บาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 100.00 ของทุนจดทะเบียนของ NH1 โดยจะชำระค่าหุ้นเป็นเงินสดทั้งจำนวน
ทั้งนี้ NH1 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2560 เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนา ก่อสร้าง และ บริหารการดำเนินงานโรงไฟฟ้า น้ำฮุง 1 ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.) โดยโครงการ “Nam Houng 1 The Hydropower Plant” ตั้งอยู่บริเวณแม่น้ำฮุง บ้านปากรุ่ง เมืองไซยะบุรี มีอัตรากำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์ต่อชั่วโมง ตามสัญญาสัมปทานกับรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2560
โดยสัญญาสัมปทานกับรัฐบาล สปป.ลาว ดังกล่าว มีระยะเวลาสัมปทานอายุ 30 ปีตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ถึงวันที่ 1 กันยายน 2596 ซึ่งสามารถต่ออายุได้เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสัมปทานตามสัญญา ภายใต้สัญญาสัมปทานกับรัฐบาลแห่ง สปป.ลาว ที่ได้ให้สิทธิแก่ NH1 แต่เพียง ผู้เดียวดังนี้ 1. สิทธิในการเป็นเจ้าของ การดำเนินงาน และการบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกของโครงการ Nam Houng 1 The Hydropower Plant 2. สิทธิในการยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าอุปกรณ์และแรงงานที่ใช้ เพื่อการก่อสร้างโครงการ 3. สิทธิในการขายไฟฟ้าให้แก่ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (Électricité Du Laos: EDL) และ 4. สิทธิในการได้รับยกเว้นภาษีจากกำไรจากการดำเนินงานเป็นเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD)
“การเข้าลงทุนใน NH1 ครั้งนี้ ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัท อีกทั้งเป็นการเพิ่มการลงทุนในกลุ่มธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้ที่มั่นคงและแน่นอน และเพิ่มโอกาสในการขยายและต่อยอดธุรกิจให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น” นายธีร กล่าว
อย่างไรก็ตาม แผนการของบริษัทหลังเข้าลงทุนใน NH1 บริษัทจะส่งตัวแทนข้าดำรงตำแหน่งกรรมการของ NH1 เพื่อให้มีอำนาจควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จ พร้อมกับมีแผนที่จะขยายเพิ่มกำลังการผลิตของ NH1 รวมถึงการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งประหยัดพลังงานในการผลิตไฟฟ้าด้วย