NER ปลื้ม! คำสั่งซื้อล่วงหน้า - EUDR ตอบรับดี มั่นใจปี 67 โตตามเป้า

   เมื่อ : 16 ก.ย. 2567

บมจ.นอร์ทอีส รับเบอร์ หรือ NER เผยยาง EUDR ตอบรับดี เตรียมส่งออเดอร์ยางล๊อตแรก 2000-3000 ตันต่อเดือนให้ลูกค้าจีน ภายในเดือน ก.ย.นี้ พร้อมตั้งเป้าส่งออกปีนี้ 45000 ตัน และจะเติบโตมากขึ้นในปี 2568 ขณะที่ มั่นใจครึ่งปีหลังผลงานดี ลุ้นรายได้ปีนี้โตเกินเป้าสูงกว่าปีก่อน

 

นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER ผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง และยางผสม เพื่อจำหน่ายไปยังผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ และกลุ่มผู้ค้าคนกลาง ทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยถึงมาตรฐานสหภาพยุโรป (อียู) ที่เริ่มบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า หรือ EU Deforestation Regulation (EUDR) ว่าในช่วงไตรมาส 3/2567 บริษัทจะมีการส่งออกยาง EUDR ล็อตแรกให้บริษัทยางสัญชาติจีน ประมาณ 3000 ตัน และส่งออกมากขึ้นในไตรมาส 4/2567

 

โดยปัจจุบันบริษัทมุ่งหน้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าสัญชาติจีน บวกกับก่อนหน้านี้ได้มีการเจรจากับลูกค้าสัญชาติจีนไปแล้ว ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้ส่วนใหญ่การส่งมอบจะเป็นล็อตเล็กประมาณ 2000-3000 ตันต่อเดือน คาดว่าระยะเริ่มแรกภายในปี 2567 น่าจะส่งออกยาง EUDR ได้ใกล้เคียงประมาณ 45000 ตัน และจะเติบโตมากขึ้นในปี 2568 ทั้งนี้ราคาขายยางมาตรฐาน EUDR ที่ดี และจะมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง น่าจะเข้ามาช่วยเสริมนอกเหนือจากการขายยางพาราปกติได้พอควรในช่วงที่เหลือของปี 2567 และปี 2568 อีกด้วย

 

สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 มั่นใจว่ามีรายได้ทั้งปีจะเติบโตอยู่ที่ 28500 ล้านบาท จากมีปริมาณขาย 440000 ตัน โดยมีแนวโน้มคำสั่งซื้อที่ดีขึ้น ได้ปัจจัยบวกจากราคายางพาราที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ในระดับสูง ซึ่งปัจจุบันมีคำสั่งซื้อ (Order) ล่วงหน้าครอบคลุมถึงไตรมาส 1/2568

 

ขณะที่แนวโน้มการส่งออกยางพารายังดีต่อเนื่อง โดยจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์พบว่า การส่งออกยางพาราขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือนติดต่อกัน โดย 6 เดือนแรกของปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ขยายตัว 30.6% โดยการเติบโตจะมาจากตลาดจีนที่มีความต้องการยางพาราที่มากขึ้นอย่างที่ได้กล่าวไป โดยเฉพาะการซื้อยางพาราเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับสต๊อก ส่วนปัจจุบันซัพพลายยางก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

 

นายชูวิทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทให้ความสำคัญกับตลาดอินเดีย และจีน ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มในการเติบโตต่อ และล่าสุดมีการการจัดตั้งบริษัทย่อยแห่งใหม่ ในประเทศโกตดิวัวร์ (Cote d’Ivoire) เพื่อสร้างโอกาสในประเทศเกิดใหม่ เพราะเป็นประเทศที่มีโอกาสเติบโตในเรื่องของยางพาราเยอะ และการแข่งขันยังไม่สูงมากนัก