บสย. ส่งโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind เติมทุน เสริมสภาพคล่อง ช่วย SMEs
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นขยายวงกว้าง บสย. เดินหน้าช่วยเหลือต่อเนื่อง ล่าสุดได้จัดเตรียมวงเงินค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม ใน โครงการ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงิน 1000 ล้านบาท ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 11 “บสย. SMEs ยั่งยืน” ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่ประสบอุทกภัย สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ผ่านกลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย. (สำหรับผู้ประกอบการ SMES ผู้ประสบอุทกภัย และมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในพื้นที่ 37 จังหวัด ตามประกาศของ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2567 หรือที่ ปภ. ได้มีประกาศเพิ่มเติมต่อไป)
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind ค้ำประกันต่อรายตั้งแต่ 1 หมื่น – 2 ล้านบาท อัตราค่าธรรมเนียม 1.25% ต่อปี ฟรี! ค่าธรรมเนียม 3 ปีแรก โดย บสย. ยกเว้นค่าดำเนินการค้ำประกันตลอดโครงการ เพื่อช่วยลดภาระทางการเงินให้กับ SMEs ผู้ประสบภัยอุทกภัย เพื่อเติมทุน เสริมสภาพคล่องให้กับ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ กลับมาฟื้นฟูกิจการได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น โดยเปิดรับคำขอค้ำประกันตั้งแต่วันนี้ ถึง 30 เม.ย. 2568
ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในวงกว้างทั่วประเทศ บสย. ได้ให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง โดยมีการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย พร้อมส่งมอบถุงยังชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัย รวมถึงออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน พักชำระค่าธรรมเนียม 6 เดือนสำหรับลูกค้า บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย และถึงกำหนดชำระค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน และค่าจัดการค้ำประกัน ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. – 31 ต.ค. 2567 และพักชำระค่างวดจ่ายหนี้ 6 งวดสำหรับลูกหนี้ บสย. ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ที่อยู่ในระหว่างผ่อนชำระตามแผนปรับโครงสร้างหนี้ และไม่ผิดนัดชำระหนี้
นอกจากนี้ บสย. ยังได้เฝ้าติดตามสถานการณ์และผลกระทบอย่างใกล้ชิดในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่มีแนวโน้มเป็นพื้นที่ประสบภัย พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศเร่งสำรวจตรวจสอบและสื่อสารประชาสัมพันธ์มาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ตลอดจนระดมทีมงานลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลืออื่นๆเพิ่มเติม นอกจากนี้ ยังได้ส่งทีมงานศูนย์ที่ปรึกษาทางการเงิน ของสำนักงานเขต บสย. ทั่วประเทศ ลงพื้นที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เพื่อให้คำแนะนำในการพลิกฟื้นธุรกิจหลังน้ำลดอีกด้วย