PRM อัดงบ 3 พันล้านบาท ขยายกองเรือ รับดีมานด์พุ่ง ดันรายได้ปี 67 โต 10%

   เมื่อ : 27 มี.ค. 2567

PRM ประกาศแผนปี 67 อัดงบลงทุนกว่า 3 พันล้านบาท ขยายกองเรือกลุ่มเรือขนส่งปิโตรเคมี เรือขนส่งระหว่างประเทศและเรือ Offshore Support ตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปัจจัยหนุนดีมานด์ที่เพิ่มขึ้น ตามแผนเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาค และกิจกรรมการสำรวจและผลิตน้ำมันในอ่าวไทยที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนองค์กรสู่ Carbon Neutral/Net Zero เพื่อความยั่งยืน

 

นางสาวสุธาสินี หมื่นละม้าย รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานพาณิชย์และการลงทุน บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) หรือ PRM เปิดเผยแผนการดำเนินงานในปี 2567 ว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 10% จากปีก่อน โดยบริษัทมุ่งเน้นการขยายธุรกิจในกลุ่มเรือขนส่งน้ำมันและปิโตรเคมีเหลว ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และเรือให้การสนับสนุนงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางทะเล (Offshore Support) รองรับความต้องการที่สูงขึ้น สอดรับกับการขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาคและราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น กระตุ้นดีมานด์การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกลางอ่าวไทย ประกอบกับเหตุตึงเครียดในทะเลแดงที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลให้ผู้ใช้บริการเรือขนส่งเร่งมองหาการขนส่งสินค้าแบบกำหนดระยะเวลาหนึ่ง หรือ Time Charter เพื่อป้องกันความเสี่ยงและความผันผวนของค่าระวางเรือในระยะยาว ซึ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธุรกิจสามารถเพิ่มสัดส่วนสัญญา Time Charter และสร้างรายได้อย่างมั่นคงในระยะยาวเช่นกัน

 

สำหรับแผนขยายกองเรือ ในปี 2567 บริษัทมีแผนขยายกองเรือเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้น และทดแทนเรือลำเดิมที่มีอายุใกล้ปลดระวาง โดยข้อมูล ณ สิ้นปี 2566 บริษัทมีจำนวนเรือให้บริการทั้งสิ้น 62 ลำ ประกอบด้วย 1.เรือขนส่งน้ำมัน และปิโตรเคมีเหลวในประเทศ 38 ลำ 2.เรือขนส่งน้ำมันระหว่างประเทศ ประกอบด้วย เรือ Aframax 1 ลำ และเรือ VLCC จำนวน 3 ลำ 3.เรือขนส่งและจัดเก็บน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป (FSU) 5 ลำ 4.เรือขนส่งสนับสนุนงานสำรวจ และผลิตปิโตเลียมกลางทะเล (Offshore Support) ประกอบด้วย เรือ AWB 2 ลำ เรือ Crew Boat 13 ลำ ส่วนธุรกิจบริหารจัดการเรือ มีจำนวนเรือให้บริการนอกกลุ่ม 3 ลำ

 

นอกจากนี้ บริษัทยังมีเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นในการพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้น ล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา บริษัทได้จัดตั้ง "คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการที่ดี และการพัฒนาอย่างยั่งยืน" เพื่อกำหนดนโยบายและให้คำปรึกษาแก่ "คณะทำงานด้านเทคนิคส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัท” หรือ Green Voyage Committee เพื่อทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลการดำเนินการของเรือและสำนักงานที่เหมาะสม รวมทั้งศึกษาเทคโนโลยี อุปกรณ์ ที่สามารถนำมาพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของเรือเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มบริษัทร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจและสถาบันการศึกษาชั้นนำทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมุ่งเน้นการทำงานใน 3 ส่วนหลัก ได้แก่ (1) กลุ่มเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน (Existing Ships) โดยติดตามการดำเนินงานผ่านระบบปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องรวมทั้งปรับปรุงประสิทธิภาพด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และอุปกรณ์ควบคุมการใช้กำลังของเครื่องยนต์ รวมทั้งบำรุงรักษาเรือตามระยะเวลาที่เหมาะสม (2) กลุ่มเรือต่อใหม่ (Newbuilding Ships) ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่การออกแบบเรือใหม่ ที่มุ่งเน้นการลดอัตราการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับกองเรือที่มีอยู่ในปัจจุบัน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของเรือ และ (3) อาคารสำนักงาน มีการรณรงค์เพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ในเรื่องของการอนุรักษ์พลังงาน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพนักงานทั้งกลุ่มบริษัท และนโยบายจัดซื้อจัดจ้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

เพื่อตอกย้ำการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero อย่างเป็นรูปธรรม ล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บริษัทได้รับมอบเรือ "Crew Boat ระบบไฮบริด พลัส กรีน เทคโนโลยี" จำนวน 2 ลำ ซึ่งใช้ระบบแบตเตอรี่ในการช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนต์ระบบ Hybrid โดยมีการออกแบบเรือให้มีประสิทธิภาพทางด้านพลศาสตร์วิศวกรรม และใช้เทคโนโลยีที่ช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงของเรือเมื่อเทียบกับเรือ Crew Boat ทั่วไป ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ลดปัญหาโลกร้อน และรองรับความต้องการใช้เรือของกลุ่มลูกค้าที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรสู่ Net Zero เช่นกัน ทั้งนี้เรือ 2 ลำดังกล่าวถือเป็นเรือ Crew Boat กลุ่มแรก ที่ได้นำ “กรีน เทคโนโลยี” มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ

 

"ธุรกิจพลังงานปัจจุบัน แม้จะมีการปรับตัวเพื่อรับยุคของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่มุ่งลดการใช้น้ำมัน แต่การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศยังคงเพิ่มขึ้น 2-3% ทุกปีรวมถึงปริมาณอุปทานของปิโตรเคมีที่ยังคงเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการขยายกำลังการผลิตของโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น บริษัทจึงยังมุ่งมั่นที่จะหาโอกาสในการขยายจำนวนเรือเพิ่ม ทั้งเรือขนส่งปิโตรเคมีเหลว เรือขนส่งในธุรกิจขนส่งระหว่างประเทศ เรือในธุรกิจ Offshore Support และเรือ FSU เพื่อสร้างการเติบโตให้กับทุกธุรกิจ โดยวางงบประมาณลงทุนรวมมากกว่า 3 พันล้านบาท เพื่อรองรับการขยายจำนวนเรือที่เพิ่มขึ้น" นางสาวสุธาสินี กล่าว