สยามคูโบต้า จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร ลุยโครงการ “คูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ปี 2” ชิงเงินรางวัลรวม 1 ล้านบาท
บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ร่วมกับ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมเปิดประสบการณ์ให้เหล่าเกษตรกรรุ่นใหม่ พัฒนาความรู้ในด้านการทำเกษตรแบบแม่นยำ พร้อมส่งเสริมการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ในโครงการ “คูโบต้า กล้า | ท้า | ปลูก ปี 2” ในธีม “นารักษ์โลก” เฟ้นหาผู้เข้าร่วมแข่งขันชิงสุดยอดนักพัฒนาแปลงปลูกข้าว ด้วยนวัตกรรมปฏิทินเพาะปลูก “KAS Crop Calendar On LINE” ชิงรางวัลรวมมูลค่า 1000000 บาท พร้อมถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า “ปัจจุบันเกษตรอัจฉริยะหรือ Smart Farming มีบทบาทสำคัญในภาคการเกษตรเป็นอย่างมาก สยามคูโบต้ามุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและผลักดันองค์ความรู้ในด้านการเกษตร ซึ่งนวัตกรรมการเกษตรถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมโลกที่มีการเติบโตมากที่สุด เนื่องจากเรากำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านการทำเกษตรไปสู่การเกษตรยุคใหม่ที่ใช้นวัตกรรมและโซลูชันเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนการสิ่งนี้จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงการเกษตรทั่วโลก เน้นลดการใช้ทรัพยากร รักษาสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความยั่งยืนภาคการเกษตร ตลอดจนมุ่งหวังเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาให้เกิดการทำเกษตรอัจฉริยะ ที่เข้ามาช่วยเติมเต็มให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยในปีที่ผ่านมา โครงการนี้สามารถสร้าง Smart Farmer หน้าใหม่ให้กับวงการเกษตรเพิ่มขึ้น และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนได้ด้านลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ ด้วยนวัตกรรม KUBOTA Agri Solutions หรือ KAS เกษตรครบวงจร ซึ่งเกษตรกรที่ได้รับรางวัลจากปีที่ผ่านมาก็ประสบความสำเร็จจากการใช้เทคนิคการเพาะปลูกผสานเทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร โดยผู้ชนะของโครงการคูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ปี 1 อิทธิพัทธ์ เอี่ยมสมาน เกษตรกรจากจังหวัดสิงห์บุรี สามารถลดต้นทุนได้ 18 % ผลผลิตเพิ่มขึ้น 35 % และมีกำไรได้ถึง 35 % และเพื่อเป็นการต่อยอดความสำเร็จจากปีที่ผ่านมา ในปีนี้สยามคูโบต้าจึงได้มีการจัดโครงการ คูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ภายใต้คอนเซ็ปต์ “นารักษ์โลก” เฟ้นหานักพัฒนาแปลงเพาะปลูกข้าว โดยใช้บันทึกปฏิทินการเพาะปลูก หรือ KAS Crop Calendar On LINE ช่วยให้เกษตรกรสามารถบริหารจัดการได้แบบ Real Time แม่นยำและมีแบบแผนตลอดการเพาะปลูก ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมดินไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมถึงส่งเสริมการทำนาเปียกสลับแห้ง ช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดการปล่อยก๊าซมีเทน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ นอกจากนี้ ในปีนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังได้ร่วมอบรมแผนธุรกิจพร้อมเทรนด์การตลาดออนไลน์และการใช้สื่อโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นอีกช่องทางในการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการเกษตรและสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อพัฒนาเป็นเกษตรกรต้นแบบในอนาคตสู่การสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง”
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงนโยบายของกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาศักยภาพให้แก่เกษตรกรว่า “กรมส่งเสริมการเกษตรได้มีการส่งเสริมให้เกษตรกรมีทักษะความสามารถในการปรับตัว และบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้มข้น พร้อมกับการสร้างความหลากหลายของผลผลิตและรายได้ ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นสาเหตุเชื่อมโยงต่อสุขภาพ การเพาะปลูก รวมถึงปริมาณ คุณภาพผลผลิตสินค้าเกษตร ในขณะเดียวกัน ภาคการเกษตรจำเป็นต้องปรับตัวในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในปัจจุบันอนาคตให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตและบริโภค
ดังนั้นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเก็บรวบรวมข้อมูลสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และสามารถวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงได้อย่างแม่นยำ อาทิ การพยากรณ์อากาศ อุณหภูมิ ความเข้มของแสง ธาตุอาหารพืชในดินและน้ำ เป็นต้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อช่วยประมวลวิเคราะห์ ควบคุมสภาพแวดล้อม จึงมีความสำคัญอย่างมากในการดูแลแปลงเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตและรายได้ที่มั่นคง อีกทั้งลดปริมาณการสูญเสียในกระบวนการผลิต สำหรับความร่วมมือกับสยามคูโบต้าในครั้งนี้ จึงเป็นการทำงานร่วมกันเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการยกระดับผลิตภาพการผลิต และประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศ จึงขอเชิญชวนเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรสมัครเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้”
โครงการ คูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ปี 2 เปิดรับสมัครการแข่งขันประเภททีม จำนวน 3 คน มีอายุระหว่าง 20 - 50 ปีมีพื้นที่เข้าร่วมแข่งขันเพาะปลูกข้าว จำนวน 1 - 5 ไร่/ คน ใช้วิธีการดำนาหรือหยอดเมล็ด และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของคูโบต้าในการเพาะปลูกทุกขั้นตอน รวมถึงสามารถใช้สมาร์ตโฟน หรือคอมพิวเตอร์ในการบันทึกข้อมูลผ่านบันทึกปฏิทินการเพาะปลูก หรือ KAS Crop Calendar On LINE ผ่าน Line OA Siam Kubota โดยเข้าไปที่เมนู KAS บันทึกปฏิทินการเพาะปลูก หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ https://kas.siamkubota.co.th/ โดยระยะเวลาการแข่งขัน จะเริ่มตั้งแต่ช่วงฤดูกาลเพาะปลูกเดือนมิถุนายน 2568 ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต ภายในเดือนธันวาคม 2568 และประกาศผลตัดสินผู้ชนะในวันที่ 19 ธันวาคม 2568 ทั้งนี้ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศ (ภาคละ 1 รางวัล รวม 4 รางวัล) จะได้รับถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล จำนวน 150000 บาท/ ทีม และรางวัลรองชนะเลิศ (ภาคละ 2 รางวัล รวม 8 รางวัล) จะได้รับเงินรางวัล จำนวน 50000 บาท/ ทีม
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
1. เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือเป็นเกษตรกรในโครงการ Young Smart Farmer (ผู้สมัครต้องได้รับการขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตร โดยสามารถลงทะเบียนได้ผ่านช่องทาง https://farmer.doae.go.th/)
2. รวมกลุ่มแข่งขันประเภททีม จำนวน 3 คน โดยมีอายุระหว่าง 20 - 50 ปี (ต้องมีเกษตรกรอายุระหว่าง 20 – 40 ปี อย่างน้อย 1 คน)
3. มีพื้นที่เข้าร่วมแข่งขันเพาะปลูกข้าว จำนวน 1 - 5 ไร่/ คน (โดยพื้นที่แปลงของผู้เข้าแข่งขันต้องอยู่ในอำเภอเดียวกัน)
4. เพาะปลูกข้าวด้วยวิธีการดำนาหรือหยอดเมล็ด และใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของคูโบต้าในการเพาะปลูกทุกขั้นตอน
5. เริ่มฤดูกาลเพาะปลูกในเดือนมิถุนายน 2568 และเก็บเกี่ยวภายในวันที่ 10 ธันวาคม 2568
6. สามารถใช้สมาร์ตโฟน หรือคอมพิวเตอร์ในการบันทึกข้อมูลผ่านบันทึกปฏิทินการเพาะปลูก หรือ KAS Crop Calendar On LINE
7. อัดคลิปวิดีโอแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมทีมทั้ง 3 คน ในหัวข้อ "คุณอยากเปลี่ยนแปลงวิธีการทำเกษตรให้ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างไร” จำนวน 1 คลิป ความยาว 1 - 2 นาที
“สยามคูโบต้าเชื่อว่า โครงการ คูโบต้า กล้า ท้า ปลูก ปี 2 จะช่วยขยายการรับรู้ด้านการเกษตรสมัยใหม่สอดรับเทรนด์ต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไปของโลกการเกษตร อีกทั้งการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืน พร้อมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น ซึ่งการประยุกต์ใช้เครื่องมือต่างๆ มาช่วยการทำเกษตรจะทำให้พวกเขาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนว่า นวัตกรรมเหล่านี้จะสามารถช่วยลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต และเพิ่มรายได้ เราจึงหวังว่าผู้ที่สนใจอยากเข้ามาทำการเกษตร หรือทำธุรกิจเกี่ยวกับภาคการเกษตร รวมถึงผู้ที่ทำเกษตรเดิมอยู่แล้วและเจนเนอเรชันต่อไปของเกษตรกรรุ่นพ่อแม่ จะโอบรับแนวคิดใหม่ๆ เพื่อพัฒนาการทำเกษตรของตนเอง ตลอดจนพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมความยั่งยืนให้โลกดีขึ้น” นางวราภรณ์ กล่าวปิดท้าย