INDUSTRIAL ESTATE INDUSTRY ANALYSIS AND OUTLOOK แนวโน้มธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม
ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมได้รับอานิสงส์จากการกระจายฐานการผลิตและการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนของนักลงทุนต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2024 ที่ขยายตัว 40%YoY ส่วนใหญ่เป็นการตั้งโรงงานผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์ จึงคาดว่าในปี 2024ธุรกิจจัดสรรที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมจะมียอดโอนที่ดินราว 3500 ไร่ และในปี 2025 ความต้องการที่ดินจะชะลอตัวเล็กน้อย มาอยู่ที่ 3000 ไร่ เนื่องจากแนวโน้มการเข้ามาลงทุนในระยะต่อไปจะเป็นการตั้งโรงงานที่เป็น Supply chain ของผู้ผลิตรายใหญ่ที่ตั้งโรงงานในไทยไปแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้ความต้องการที่ดินจะมีขนาดไม่ใหญ่มาก ขณะที่พื้นที่โรงงานสำเร็จรูปที่มีสัญญาเช่าคาดว่าจะเติบโตราว 4.6%YoY ในปี 2024 และ 2.9%YoY ในปี 2025 ตามความต้องการพื้นที่เช่าที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนที่ต้องการเดินสายการผลิตให้เร็วที่สุด
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรมของไทยมีโอกาสเผชิญปัจจัยเสี่ยงหลายประการ เช่น 1) การกระจายฐานการผลิตที่เริ่มเห็นสัญญาณชะลอตัว 2) ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าและการลงทุนของต่างประเทศ ซึ่งมีโอกาสกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักและการชะลอแผนการลงทุนตั้งโรงงานผลิตในไทย และ 3) การแข่งขันจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนจากนโยบายดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ได้มากขึ้น
นอกจากนี้ เทรนด์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการสนับสนุนให้โรงงานภายในนิคมฯ และผู้เช่าโรงงานสำเร็จรูปเติบโตได้อย่างยั่งยืน เช่น การจัดหาพลังงานสะอาดรองรับความต้องการที่มากขึ้น การบริหารจัดการขยะอย่างถูกวิธี รวมถึงการจัดเตรียมแหล่งน้ำให้เพียงพอและทันต่อการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรม จะช่วยให้ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรมเข้าใกล้การเป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนได้มากขึ้น