กรุงเทพประกันภัย ตั้งเป้าปี 68 โกยเบี้ยรวม 3.42 หมื่นลบ. โต 8% พร้อมรุก Non-Motor

BKI ตั้งเป้าปี 68 เบี้ยประกันภัยรับรวมแตะ 34200 ล้านบาท หรือ เติบโต 8% เน้น Non-Motor พร้อมขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี และ นวัตกรรมดิจิทัล
ดร.อภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท บีเคไอ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BKIH เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งลงทุนในธุรกิจหลักด้านการประกันภัย และ ธุรกิจอื่นที่หลากหลาย และ มีศักยภาพ สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) มีรายได้รวม 23422.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้จากการรับประกันภัย 21481.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.9% และ มีรายได้จากการลงทุน 1940.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.0%
ซึ่งมีผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 1854.8 ล้านบาท และ รายได้สุทธิจากการลงทุนเท่ากับ 1802.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.7% ทำให้มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3657.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.6% และ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 3046.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.1% คิดเป็นกำไรต่อหุ้นส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้น 28.61 บาท
สำหรับการจัดสรรเงินปันผลในปี 2567 บริษัทฯ จัดสรรเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วอัตราหุ้นละ 11.25 บาท และ ในงวดสุดท้ายของปี 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเสนอให้จ่ายเงินปันผล หุ้นละ 5.75 บาท รวมจ่ายเงินปันผลทั้งปี 2567 ในอัตราหุ้นละ 17 บาท โดยมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 5.84%
ในขณะที่ บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด(มหาชน) หรือ BKI ยังเป็นบริษัทย่อยที่สร้างรายได้หลักให้แก่ BKIH โดยทิศทางการดำเนินงานในปี 2568 บริษัทได้ตั้งเป้าหมายเบี้ยประกันภัยรับรวมที่ 34200 ล้านบาท เติบโต 8% แบ่งเป็น เบี้ยประกันภัยรถยนต์ 14700 ล้านบาท และ เบี้ยประกันภัยที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์ หรือ Non-Motor 19500 ล้านบาท โดยบริษัทฯ มุ่งมั่นที่จะขยายธุรกิจด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี และ นวัตกรรมดิจิทัล ยกระดับผลิตภัณฑ์ และ บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างแท้จริง เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุด ทั้งในด้านความสะดวก รวดเร็ว และ ความพึงพอใจสูงสุดในทุกการบริการ
สำหรับแนวโน้มของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2568 สมาคมประกันวินาศภัยไทยคาดว่า จะขยายตัว 1.5-2.5% ซึ่งเติบโตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า คิดเป็นเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง 2.91-2.95 แสนล้านบาท โดยมีแนวโน้มการเติบโตมาจากการเร่งขยายโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จากเงินลงทุนภาครัฐ
ประกอบกับ ประกันภัยสุขภาพที่เติบโตจากการตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นทั้งจากสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่นำไปสู่โรคประจำฤดูกาล ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 รวมถึงปัจจัยค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่เพิ่มขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อทางการแพทย์ (Medical Inflation)
ทางด้านตลาดบ้านที่อยู่อาศัยถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง แต่ด้วยสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรง และ บ่อยครั้งขึ้น ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้ประชาชนตระหนักถึงการประกันความเสี่ยงภัยดังกล่าว โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วม และ ลมพายุ
อย่างไรก็ตาม จากสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนผนวกกับภาระหนี้สินครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง ยังคงเป็นปัจจัยกดดันการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย จากผลกระทบด้านกำลังซื้อของผู้บริโภค ในขณะเดียวกันความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ส่งผลต่อเนื่องมายังยอดจำหน่ายสินทรัพย์ เช่น บ้าน และรถยนต์ ยังเป็นปัจจัยที่ชะลอการเติบโตของเบี้ยประกันอัคคีภัย และ ประกันภัยรถยนต์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้ง มาตรการด้านภาษีของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่เพิ่มแรงกดดันต่อการค้ากับประเทศจีน และ ส่งผลให้สินค้าจากจีนทะลักเข้าสู่ประเทศไทย โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่แนวโน้มการแข่งขันด้านราคาจะรุนแรงขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่ความผันผวนของราคา และ ทุนประกันภัยที่บริษัทประกันวินาศภัยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2567 (ม.ค.-ธ.ค.) บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 31736.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.1% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีผลกำไรสุทธิจากการรับประกันภัยหลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานแล้ว 1871.0 ล้านบาท ลดลง 9.6% ส่วนกำไรจากการลงทุนสุทธิเท่ากับ 1799.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 38.5% ทำให้บริษัทฯ มีกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ 3670.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.9% และ มีกำไรสุทธิ 3059.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.5% คิดเป็นกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐาน 28.74 บาท และ บริษัทฯ ยังคงสามารถรักษาอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงินในระดับสูง หรือ Credit Rating A- (Stable) (ณ ต.ค. 67) โดย Standard & Poor’s (S&P) สถาบันการจัดอันดับทางการเงินชั้นนำของโลกได้อย่างต่อเนื่อง
"กำไรปี 67 ที่ 3059.8 ล้านบาท ถือว่าเป็น New High หรือ ทำสถิติสูงสุดใหม่ ซึ่งหลักๆ ยังมาจากธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะ BKI แม้ว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 67 จะพลาดเป้าที่วางไว้ว่า จะเติบโต 7% แต่ทำได้ 6% ซึ่งเกิดจากยอดขายรถยนต์ที่ต่ำกว่าเป้า ตลอดจนภัยธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำท่วม และ เศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง หนี้ครัวเรือนที่สูงมากกว่า 90% ของจีดีพี"ดร.อภิสิทธิ์ กล่าว
สำหรับเงินลงทุนตามราคาทุนทั้งสิ้น ณ 31 ธ.ค. 67 ของบริษัท อยู่ที่ 30000 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ตราสารหนี้ 35% และ ตราสารทุน 65 % ซึ่งคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (Return on Investment : ROI) อยู่ที่ 3.75% ของมูลค่าเงินลงทุนตามราคาทุน
ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ของบริษัทฯ มีพอร์ตอยู่ 7000 คัน คิดเป็นมูลค่าเบี้ยประกันอยู่ที่ 215 ล้านบาท และ ค่าสินไหมทดแทน(loss ratio) อยู่ที่ 68% จากตลาดรถยนต์ไฟฟ้า อยู่ที่ 160000 คัน ซึ่งการที่ loss ratio ของบริษัทฯ อยู่ต่ำกว่าตลาดนั้นเกิดจากบริษัทฯ คิดค่าเบี้ยประกันสูงกว่าคู่แข่ง