CPAC ผนึก SB&M พันธมิตรญี่ปุ่น รุกธุรกิจซ่อมสร้างอาคารสูง

   เมื่อ : 07 พ.ค. 2568

เมื่อโครงสร้างพื้นฐานและอาคารหลายแห่งในประเทศไทยมีอายุใช้งานเกินกว่า 30–50 ปี พร้อมเผชิญกับความเสี่ยงใหม่ ๆ จากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ธุรกิจซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงสร้าง จึงไม่ได้เป็นเพียงงานบำรุงปกติอีกต่อไป แต่กลายเป็นหนึ่งใน “แนวป้องกันระดับชาติ” ที่จะช่วยยืดอายุอาคาร ลดการสูญเสีย และป้องกันความเสียหายเชิงเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ


แผ่นดินไหว: ความเสี่ยงที่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด


แม้ว่าไทยจะไม่ได้อยู่ในแนวรอยเลื่อนหลักของโลก แต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.7 ริกเตอร์ ที่เมียนมา เมื่อ 28 มีนาคม พ.ศ. 2568 ที่ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงหลายจังหวัดในประเทศไทย จนทำให้เกิดผลกระทบด้านโครงสร้างอาคารหลายแห่งเสียหาย รวมถึงเหตุแผ่นดินไหว 6.4 ริกเตอร์ ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย ในปี 2557 แรงสั่นสะเทือนส่งผลถึงตึกสูงในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน เหตุการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าโครงสร้างในไทย โดยเฉพาะอาคารเก่า ที่แม้จะมีการออกแบบรับแรงสั่นสะเทือนแล้ว ควรพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากภัยแผ่นดินไหวด้วย


CPAC บริษัทในเครือเอสซีจี ซึ่งร่วมทุนกับ SB&M ได้นำความเชี่ยวชาญและเทคโนโลยีซ่อมแซมโครงสร้างของ SB&M มาต่อยอดธุรกิจ Lifetime Solution แบบครบวงจร เพื่อให้บริการงานก่อสร้างในไทยอย่างมีประสิทธิภาพ ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจสอบ ไปจนถึงซ่อมแซม เสริมกำลัง และป้องกันความเสียหายของโครงสร้างในระดับลึก


“เราไม่ได้มองแค่การซ่อมเมื่อเกิดความเสียหาย แต่คือการยืดอายุ และทำให้อาคาร-โครงสร้างพร้อมรับมือกับเหตุไม่คาดฝัน เช่น แผ่นดินไหว” — นายสุรชัย นิ่มละออ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซีเมนต์แอนด์กรีนโซลูชันส์ กล่าว