บลจ.อเบอร์ดีนมองหุ้นไทยความเสี่ยงขาลงจำกัด คาดอัตรากำไรบจ.พลิกกลับมาโต 10%
บลจ.อเบอร์ดีน มองหุ้นไทยโอกาสฟื้นตัว แรงหนุนจาก 3 ปัจจัย "เศรษฐกิจไทยฟื้น-กำไรบจ.ปี 2567 พลิกกลับมาเติบโต 10% - Valuation หุ้นอยู่ระดับน่าสนใจ" พร้อมลุ้นกนง.หั่นดอกเบี้ยหนุนตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นแรง มองจังหวะทยอยสะสมหุ้นบริษัทคุณภาพดี แนวโน้มเติบโตโดดเด่นกว่าตลาด แนะนำกองทุน ABSM เน้นหุ้นขนาดกลางและเล็ก มีศักยภาพเติบโตแข็งแกร่ง
นางสาวดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย หัวหน้าฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า อเบอร์ดีน มีมุมมองที่ดีขึ้นต่อตลาดหุ้นไทยใน 6-12 เดือนข้างหน้า และมองความเสี่ยงที่ตลาดจะปรับฐานลงต่อมีค่อนข้างจำกัด จึงเป็นโอกาสทยอยสะสมหุ้น รับเศรษฐกิจไทยที่คาดว่าจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีชัดเจนขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 นี้ และน่าจะส่งผลให้กระแสเงินทุนต่างชาติกลับมาเข้ามาลงทุนในบริษัทขนาดใหญ่ได้ แต่การลงทุนยังคงต้องระมัดระวังและเน้นเลือกหุ้นรายตัวที่มีโอกาสเติบโตโดดเด่นกว่าตลาดโดยรวม สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
1.การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งมองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 1 และคาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 ปีนี้ หลังจากงบประมาณรายจ่ายรัฐบาลประจำปี 2567 ผ่านการอนุมัติในช่วงปลายเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเร่งเบิกจ่ายตั้งแต่เดือนพ.ค. ทั้งนี้ เรายังคงต้องติดตามโครงการดิจิทัลวอลเล็ตด้วยว่าจะสามารถดำเนินการได้ตามแผนในไตรมาส 4 ปีนี้หรือไม่
2.การเติบโตของอัตรากำไรบจ.ในตลาดหุ้นไทย (SET Earning Per Share: SET EPS) คาดว่าจะเติบโตประมาณ 10% ในปี 2567 (ที่มา abrdn เมษายน 2567) ซึ่งฟื้นตัวจาก -11% ในปีที่ผ่านมา (ที่มา Bloomberg เมษายน 2567) โดยมองว่ายังมีหลายกลุ่มธุรกิจที่มีความสามารถในการทำกำไรที่ชัดเจน (earnings visibility) และเติบโตดีกว่าภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์ เช่น กลุ่มท่องเที่ยวพาณิชย์การแพทย์นิคมอุตสาหกรรม และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม
3.Valuation ยังไม่แพง ซึ่งที่ผ่านมา SET Index ปรับตัวลดลงแตะระดับ 1330 จุด ทำจุดต่ำสุดใหม่นับตั้งแต่วิกฤติโควิด จากปัจจัยภายนอกเป็นหลัก ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นแรงเกิดคาด รวมถึงความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้เงินลงทุนไหลกลับไปสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ อย่างไรก็ตาม SET Index ปรับฐานลงมาอยู่ในระดับน่าสนใจ ด้วย forward P/E ที่ 14 เท่า คิดเป็นอัตราส่วนลด (discount) 18% จากค่าเฉลี่ย P/E ในอดีต 10 ปี ซึ่ง อยู่ที่ 17 เท่า (ที่มา Bloomberg เมษายน 2567)
นอกจากนี้เมื่อเทียบส่วนต่างอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นกับผลตอบแทนจากพันธบัตร (earnings yield gap) ของตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 4.4% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3.6% สะท้อนถึงจังหวะที่น่าสนใจลงทุน เมื่อเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี ที่ 2.72% อีกทั้ง SET Index ณ ระดับปัจจุบันสะท้อนการเติบโตของกำไรต่อหุ้นปีนี้น้อยกว่า 2% ซึ่งสะท้อนความกังวลต่อความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของกำไรบจ.ไปมากแล้ว (ที่มา Bloomberg เมษายน 2567)
"อเบอร์ดีนยังเห็นโอกาสที่หุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้ หากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เริ่มมีการผ่อนคลายนโยบายการเงินมากขึ้นผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จากแนวโน้มของการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำกว่าระดับที่ควรจะเป็น ซึ่งหากย้อนดูสถิติในอดีตนับตั้งแต่ปี 2544 จะพบว่า 4 ใน 5 ครั้งที่ ธปท.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นแรงถึง 20-30% โดยมีเพียงครั้งเดียวที่ตลาดไม่ได้ขึ้นแรง คือก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิดในปี 2562 ดังนั้น แม้ว่าปัจจัยภายนอกประเทศจะกดดันความเชื่อมั่นในการลงทุนตลาดหุ้นไทยไปบ้าง แต่เรามองว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เริ่มทยอยเข้าสะสมหุ้นในบริษัทที่มีคุณภาพและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดีในระยะยาว" นางสาวดรุณรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ อเบอร์ดีนยังเน้นกลยุทธ์การลงทุนแบบเชิงรุก โดยเน้นการคัดสรรหุ้นรายตัวและวิเคราะห์เชิงลึกในแต่ละบริษัท โดยเฉพาะหุ้นที่ valuation ยังไม่แพงและมีศักยภาพแนวโน้มการเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าตลาดในระยะยาวอย่างน้อย 1-3 ปี
สำหรับกองทุนหุ้นไทยที่แนะนำ ได้แก่ กองทุนเปิด อเบอร์ดีน สมอล-มิดแค็พ (ABSM) เน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นได้ประโยชน์จากการเติบโตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศไทย เช่น กลุ่มท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจสุขภาพ และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเทรนด์ที่บริษัททั่วโลกย้ายฐานการผลิตออกจากจีนไปสู่ประเทศอื่น ๆ ในขณะที่ผลการดำเนินงานของ ABSM ในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาทำได้ดีกว่าดัชนีชี้วัด (SET TRI) โดยหุ้นที่ถือครองในพอร์ตอันดับต้นๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ด้วยแนวโน้มการเติบโตของกำไรบริษัทที่แข็งแกร่งในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ทั้งกลุ่มการแพทย์ กลุ่มไอที และกลุ่มธุรกิจบริการเฉพาะกิจ (professional services) แม้จะมีแรงขายทำกำไรในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ จากผลตอบแทนโดดเด่นช่วงก่อนหน้า (ตั้งแต่ ธันวาคม 2566-กุมภาพันธ์ 2567 ที่มา Bloomberg) ประกอบกับการเผชิญกับความท้าทายในระยะสั้น จากการฟื้นตัวที่ช้าในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
"ที่ผ่านมาหุ้นขนาดกลางและเล็กเคลื่อนไหวไม่ได้ไปในทิศทางเดียวกันกับตลาดโดยรวม แต่ขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงานของบริษัทมากกว่า จึงมองจังหวะที่ตลาดปรับฐานเป็นโอกาสดีในการเข้าลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กที่มีคุณภาพดีและราคาปรับตัวลงจนน่าสนใจขึ้น ขณะที่พอร์ตการลงทุนของ ABSM ก็มีโอกาสเติบโตสูงกว่าตลาด โดยคาดการณ์ EPS ของพอร์ตลงทุนจะเติบโตประมาณ 19.3% ในปีนี้ (จากประมาณการณ์ของ Bloomberg เมษายน 2567)” นางสาวดรุณรัตน์กล่าว ทั้งนี้ ABSM มีความเสี่ยงกองทุนระดับ 6