SCB WEALTH มองหากทรัมป์ชนะเลือกตั้ง แนะ Core Port เน้นลงทุนตปท.ในตราสารหนี้ หุ้นกลุ่ม New economy-Quality และทองคำ
SCB WEALTH จัดสัมมนา SCB FIRST INVESTMENT OUTLOOK 2024 ภายใต้ธีม “NAVIGATING THE INVESTMENT WORLD WITH DIGITAL AI” ให้แก่กลุ่มลูกค้า First โดย SCB WEALTH มองการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่ตลาดทุนจะมีความผันผวน แม้เป้าหมายนโยบายที่คล้ายกันทั้งของทรัมป์ และตัวแทนจากพรรคเดโมแครต ในการเป็นมิตรกับจีนน้อยลง แต่ทรัมป์จะสุดโต่งมากกว่า หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งจะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ มากกว่าตัวแทนจากพรรคเดโมแครต จากนโยบายปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคงภาษีเงินได้นิติบุคคล หนุนบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มกำไรเพิ่มขึ้น ด้านกลุ่มเทคโนโลยียังได้รับแรงสนับสนุนเพื่อแข่งกับจีน แนะนักลงทุนกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ในต่างประเทศทั้งตราสารหนี้ และหุ้น เพื่อโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าการลงทุนในประเทศ พร้อมแบ่งพอร์ตออกเป็น 2 ส่วนคือ Core port ที่เน้นลงทุนมากกว่า 1 ปีขึ้นไป แนะลงทุนในหุ้นกู้ Investment Grade หุ้นสหรัฐฯ ในกลุ่มnew economy หุ้นในห่วงโซ่อุปทาน AI และหุ้นคุณภาพสูง (Quality) ที่มูลค่าหุ้นเติบโตได้ในระยะยาว และทองคำ เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ส่วน Opportunistic Port ลงทุนระยะสั้นน้อยกว่า1 ปี เน้นหุ้นที่ยังมี Valuation ไม่แพง ได้แก่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เวียดนาม ยุโรป และจีน H-Share ด้าน EIC มองเศรษฐกิจไทย เติบโตช้า เปราะบาง คาดปีหน้าเติบโตได้ 2.9% สูงกว่าปีนี้เล็กน้อยที่ 2.5% ต่ำกว่าในอดีตที่เคยเติบโตปีละ 4-5% จากปัจจัยที่สินค้าส่งออกอยู่ในกลุ่มที่โลกให้ความสำคัญน้อย มองหากกนง. ให้น้ำหนักความเปราะบางของเศรษฐกิจมากขึ้น การลดดอกเบี้ยจะช่วยแก้ปัญหาหนี้และเศรษฐกิจได้ คาดปลายปีนี้ลดดอกเบี้ย 1 ครั้ง ด้าน Digital Banking มอง 5 กลุ่มบริษัท AI โดดเด่น ได้แก่ NVIDIA OpenAI Anthropic TSMC และ Databricks ปัจจุบันแม้จะยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อไหร่ที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ถือเป็นบริษัทที่น่าจับตา ส่วน InnovestX แนะลงทุนที่มีความเสี่ยงขาลงจำกัด ผ่านหุ้นกู้อนุพันธ์แฝงอ้างอิงกับตราสารทุนประเภท Knock-In Knock-Out Basket Equity Linked Note (KIKO) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือผลิตภัณฑ์ Bonus Enhanced Note ที่กำหนดผลตอบแทนอ้างอิงกับการปรับตัวของราคาหุ้น
ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเปิดงานสัมมนา SCB FIRST INVESTMENT OUTLOOK 2024 ภายใต้ธีม “NAVIGATING THE INVESTMENT WORLD WITH DIGITAL AI ว่า ตลาดการลงทุนในไทยมีความผันผวนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่ตลาดลงทุนทั่วโลก มีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องและยังมีโอกาสที่น่าสนใจอยู่ โดยเฉพาะเงินเฟ้อหลายประเทศในโลกเริ่มชะลอตัวลง ทำให้ธนาคารกลางต่างๆ มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญช่วยเพิ่มสภาพคล่อง และเป็นผลดีต่อภาวะการลงทุน
ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญของ SCB WEALTH คือ ทำให้พอร์ตลงทุนของลูกค้ามีความแข็งแกร่ง เติบโตได้อย่างสม่ำเสมอโดยไม่ขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดเพียงอย่างเดียว แต่เราจะเฟ้นหาสินทรัพย์ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้แม้ในภาวะที่ตลาดมีความผันผวน เพื่อเป็นทางเลือกการลงทุนให้กับลูกค้าผ่านการให้คำแนะนำการจัดพอร์ตลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ทั้งสินทรัพย์เสี่ยง และสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงกระจายการลงทุนทั่วโลก การสร้างพอร์ตลงทุนหลักให้เปรียบเหมือนสมอเรือใหญ่ และพอร์ตเสริมสำหรับการลงทุนสอดคล้องกับภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา โดยเราพร้อมเคียงข้างเป็นเสมือนThought partner เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้กับลูกค้า
ดร.ฐิติมา ชูเชิด ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกโดยรวมในปีนี้ แนวโน้มสดใสกว่าที่เคยมองต้นปี แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า เศรษฐกิจโลกระยะถัดไปอาจไม่เติบโตแบบในอดีตที่เคยโต 3-4% โดยอีก 5 ปีข้างหน้าอาจเติบโตเฉลี่ย 2.6% เท่านั้น จากปัจจัยกดดัน โดยเศรษฐกิจจีนจะไม่เติบโต 6-7% เหมือนในอดีต เพราะจีนเน้นการเติบโตอย่างมีคุณภาพมากขึ้น ประเทศต่างๆ จะแบ่งขั้วกันมากขึ้น (decoupling) ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ และจีน ซึ่งทำให้แนวโน้มโลกาภิวัฒน์เปลี่ยนไปสู่การกีดกันการค้าต่างขั้วและหันมาเน้นผลิตเอง ขณะที่สังคมผู้สูงอายุในโลกจะทำให้มีจำนวนแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจน้อยลง รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก
ส่วนเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวช้า เปราะบาง และไม่แน่นอน ในปีนี้คาดว่าจะเติบโต 2.5% ปรับลดลงจากมุมมองเดิม จากการส่งออกที่เติบโตได้ไม่ดีเท่าการค้าโลก การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนไม่ดีนัก มีเพียงการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ เรามองว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตได้ 2.9% ซึ่งต่ำกว่าในอดีตมาก หากต้องการให้เศรษฐกิจไทยกลับไปเติบโต 4-5% เหมือนในอดีต ไทยจำเป็นต้องปรับตัวหลายอย่าง โดยเฉพาะการส่งออกที่ปัจจุบัน สินค้าส่งออกส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มที่โลกไม่ต้องการ ต่างจากประเทศคู่แข่งอื่นที่ปรับตัวเร็วกว่า สามารถเพิ่มสัดส่วนส่งออกสินค้าที่โลกต้องการได้เยอะขึ้น
ส่วนความเปราะบางของเศรษฐกิจไทย พบว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด แยกเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มบนฟื้นตัว แต่กลุ่มล่างมีปัญหา เช่น ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย รายได้ลดลง หรือมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ ทำให้เกิดปัญหาไม่มีเงินสำรองยามฉุกเฉิน ซึ่ง SCB EIC มองว่า หากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้น้ำหนักประเด็นเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางมากขึ้น ท่ามกลางสถาบันการเงินที่เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อกว่าในอดีต การลดดอกเบี้ยจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ ช่วยเศรษฐกิจได้ โดยเราคาดว่า กนง. จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้งปลายปี 2567 และลดอีก 1 ครั้งช่วงต้นปี 2568 ส่วนค่าเงินบาทอ่อนค่าตั้งแต่ต้นปี 2567 จากเงินทุนที่ไหลออกค่อนข้างมาก หากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปีนี้ คาดว่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้เล็กน้อยอยู่ที่ 35-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยนั้น รับผลมาจากความไม่แน่นอนของโลก โดยหากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง คาดว่าจะทำให้นโยบายเศรษฐกิจการค้าโลกยิ่งมีความไม่แน่นอนมากขึ้น เพราะท่าทีที่ไม่เป็นมิตรกับจีนก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้น ขณะที่บทบาทการเป็นพันธมิตรสงครามอาจไม่มากเท่ากับตัวแทนจากพรรคเดโมแครตโดยจะเน้นสนใจประเทศตนเองก่อน ขณะที่การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวของโลกก็อาจจะล่าช้าออกไป เนื่องจากทรัมป์ ไม่ได้สนับสนุนด้านนี้ ตลาดการเงินโลกจะมีความผันผวนมากขึ้น หากทรัมป์เข้าไปแทรกแซงการทำงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) โดยเฉพาะผ่านการออกมาพูดหรือพิมพ์ข้อความผ่านสื่อ ทั้งนี้ แม้มีความไม่แน่นอนเหล่านี้รออยู่ อย่างไรก็ตาม หลายธุรกิจไทยยังมีโอกาสเติบโตได้ เช่น ธุรกิจพลังงานทดแทน ธุรกิจดูแลสุขภาพ (Wellness) และการบริโภคเพื่อเทรนด์สุขภาพ
นายศรชัย สุเนต์ตา CFA รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Office and Product กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า นักวิเคราะห์ต่างก็มีมุมมองต่อทิศทางของเศรษฐกิจโลกดีขึ้น ประเด็นนี้ถือเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยในส่วนของสหรัฐฯ เรามองว่า ทิศทางดอกเบี้ยมีแนวโน้มเป็นขาลง ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ ( Fed ) อาจลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ และส่งสัญญาณว่า การรักษาอัตราดอกเบี้ยระดับสูงนานเกินไปอาจกระทบต่อเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ยังมีความเป็นไปได้ที่ Fed อาจลดดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากปลายปีจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งในช่วงเลือกตั้งหากคุมเงินเฟ้อไม่อยู่ อาจมีผลกระทบต่อฐานเสียงประธานาธิบดีได้ ดังนั้น ประเด็นนี้อาจจะทำให้ Fed ไม่ลดดอกเบี้ยเร็วเพราะกังวลประเด็นเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ มองว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ จะทำให้ตลาดการลงทุนมีความผันผวน แม้ผลการเลือกตั้งจะออกมาว่า โดนัลด์ ทรัมป์ หรือ ตัวแทนจากพรรคเดโมแครตเป็นประธานาธิบดีก็ตาม จะไม่ได้เปลี่ยนทิศทางนโยบายสหรัฐฯแบบสิ้นเชิง เพราะเป้าหมายนโยบายคล้ายกัน คือ เป็นมิตรกับจีนน้อยลง แต่ด้วยวิธีการดำเนินนโยบายแตกต่างกัน หาก ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดี จะดำเนินนโยบายสุดโต่งกว่า ทำให้เกิดความไม่แน่นอนด้านนโยบายเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นได้มากกว่าตัวแทนจากพรรคเดโมแครต เนื่องจากการเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ตามนโยบายปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและคงภาษีเงินได้นิติบุคคล แตกต่างจากตัวแทนจากพรรคเดโมแครตที่จะปรับเพิ่มอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้มีรายได้สูง และภาษีเงินได้นิติบุคคล อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ อาจมีความผันผวนมากขึ้น นักลงทุนจึงต้องอาศัยการจับจังหวะเวลาลงทุน ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจผันผวนมากเป็นพิเศษ โดยมีแนวโน้มแข็งค่า จากการที่นักลงทุนมุ่งหาสินทรัพย์ปลอดภัย เช่นเดียวกับความต้องการลงทุนทองคำที่จะสูงขึ้น
สำหรับหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีมองว่า ทั้งทรัมป์และตัวแทนจากพรรคเดโมแครตจะยังสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มเทคโนโลยี ที่เกี่ยวกับ AI เพื่อแข่งขันกับจีน ด้วยรูปแบบที่ต่างกัน โดยทรัมป์มีแนวโน้มให้เอกชนเป็นผู้ขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีมากกว่าการใช้งบประมาณภาครัฐ มุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน ส่วนตัวแทนจากพรรคเดโมแครตจะยังให้เงินทุนสนับสนุนศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมระดับภูมิภาคใน 14 รัฐ เพื่อเร่งการเติบโตของนวัตกรรมต่างๆ เช่น อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ พลังงานสะอาด ชีวเทคโนโลยี และ AI
ทั้งนี้ SCB WEALTH มองว่า หากต้องการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่ดี อาจต้องกระจายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ในต่างประเทศ โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชนในต่างประเทศ ที่มีอายุตราสารเท่ากับของไทย ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าของไทย และมีความหลากหลายของกลุ่มอุตสาหกรรมให้เลือกลงทุนมากกว่าอีกด้วย นอกจากนี้กำไรบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศยังมีแนวโน้มเติบโตค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ AI ซึ่งไทยยังมีกลุ่มดังกล่าวอยู่จำนวนน้อย
สำหรับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ระดับปานกลางถึงสูง เราแนะนำให้จัดพอร์ตลงทุน โดยแบ่งเงินลงทุนเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก คือ พอร์ตลงทุนหลัก (Core Portfolio) ลงทุนระยะยาว 1 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนมากกว่า 50% ขึ้นไป ควรกระจายลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เพื่อตอบโจทย์ 3 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่ 1) สร้างกระแสเงิน ทำให้พอร์ตมีเสถียรภาพ แนะนำลงทุนในหุ้นกู้เอกชนต่างประเทศที่มีคุณภาพสูง (Investment Grade) และ ตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credit) ที่ให้ผลตอบแทนน่าสนใจกว่าหุ้นกู้เอกชนในตลาด โดยสามารถเลือกคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดความเสี่ยงได้ เช่น มีสิทธิเรียกร้องการชำระหนี้ลำดับแรกและมีหลักประกัน เป็นต้น โดยอาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เพื่อให้สามารถกระจายการลงทุนได้ดียิ่งขึ้น เช่น SCB Senior Loan (SCBSNLOAN) และ BCRED-O
2) สร้างการเติบโตให้พอร์ต ควรลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่กำไรบริษัทจดทะเบียนยังมีโอกาสเติบโต และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม new economy รวมถึงหุ้นในห่วงโซ่อุปทาน AI ที่สอดคล้องกับการลงทุนและใช้งาน AI เช่นกองทุนSCBSEMI(A) และ TISCOAI รวมทั้งกลุ่มหุ้นคุณภาพสูง (Quality) ที่ทำให้มูลค่าหุ้นเติบโตได้ในระยะยาว มีความยืดหยุ่นในการปรับพอร์ตให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ ได้แก่ กองทุน ES-GQG ด้านตลาดหุ้นไทย ดัชนีฯ ปรับลดลงมามาก Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ ยังสามารถสะสมเข้าพอร์ตลงทุนในระยะยาวได้ แต่ไม่ใช่การลงทุนแบบครอบคลุมทั้งดัชนี ต้องเน้นการคัดเลือกหุ้นแบบ Bottom up มากขึ้น เช่น TH Alpha Fund ซึ่งเป็นกองทุนส่วนบุคคลที่บริหารโดย InnovestX เน้นลงทุนหุ้นไทยโดยวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานลงทุนในหลักทรัพย์เพียง 7-15 บริษัทเท่านั้น
3) ป้องกันความเสี่ยงของพอร์ต แนะนำลงทุนในทองคำ เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ และความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างดี รวมทั้ง ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ที่จ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน หรือ Dual Currency Note (DCI) เพื่อป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน สามารถซื้อสกุลเงินต่างประเทศในราคาที่พึงพอใจ พร้อมโอกาสรับผลตอบแทนเมื่อครบอายุตราสารได้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีกองทุนผสม ที่จัดสรรสินทรัพย์ลงทุน ในรูปแบบเดียวกับ Core Portfolio และมีผู้จัดการกองทุนที่ผู้เชี่ยวชาญปรับเปลี่ยนสัดส่วนการลงทุนให้ตามสถานการณ์ ให้ผู้ลงทุนได้เลือกลงทุน เช่น SCBGA(A)
ส่วนที่สอง คือ การลงทุนบนพอร์ตเสริม (Opportunistic Portfolio) ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะสั้น น้อยกว่า 1 ปี รับปัจจัยบวกระยะสั้นของตลาดนั้นๆ และยังมี Valuation ไม่แพง ได้แก่ ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ ที่ได้อานิสงส์จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อยู่ในวัฏจักรขาขึ้นและกำไรมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ตลาดหุ้นเวียดนาม ที่คาดว่าเศรษฐกิจได้รับผลจากความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีนไม่มาก ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มดี ตลาดหุ้นยุโรปเริ่มเห็นการฟื้นตัวของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน อีกทั้งผลตอบแทนมีแนวโน้มดีกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ และตลาดหุ้นจีน H-Share ที่ได้อานิสงส์ความคาดหวังการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในการประชุม 3rd Plenum และ politburo เดือนก.ค. นี้ อีกทั้งทางการยังส่งเสริมการซื้อหุ้นคืนและจ่ายเงินปันผล
นายสิทธิชัย ดวงรัตนฉายา นักกลยุทธ์อาวุโสตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า การใช้งาน AI ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI น่าสนใจ โดยเฉพาะกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ที่ยอดขายเป็นวัฏจักรขาขึ้น วงจรขาขึ้นของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ในอดีตเฉลี่ยอยู่ที่ 32 เดือน ปัจจุบันยังอยู่ที่ 8 เดือนเท่านั้น จึงยังมีโอกาสไปต่อได้อีก สำหรับผู้ที่สนใจลงทุนธีม AI เรามองการเติบโตของ AI ออกเป็น 3 ระยะ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในระยะแรก คือ การเติบโตของกลุ่ม AI Infrastructure หรือโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI เช่น ASML TSMC Nvidia Samsung SK Hynik Applied Material Palo Alto Network และ CrowdStrike กลุ่มถัดไปที่จะเติบโต คือ AI Enabled หรือกลุ่มที่นำ AI มาใช้ในผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจ เช่น Microsoft Alphabet Amazon Meta Platform Oracle Salesforce Adobe Apple Snowflake และ Tesla ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์ ที่เรามองว่าเทียบกับวัฏจักรในอดีตพบว่ามีแนวโน้มเติบโตได้ 3 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่ม AI Infrastructure ที่เกี่ยวข้องกับฮาร์ดแวร์ และการเติบโตจะต่อเนื่องไปจนถึงปี 2025 ซึ่งในขณะที่กลุ่มนี้เติบโตก็จะสนับสนุนให้กลุ่ม AI Infrastructure ยังเติบโตต่อไปได้ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือ AI Productivity หรืออุตสาหกรรมที่ใช้ประโยชน์ AI ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะยังเวลาระยะหนึ่งเพื่อให้เห็นถึงประสิทธผลจากการใช้ AI อย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ เรามองว่า หุ้นที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่น่าสนใจลงทุนอยู่ในต่างประเทศเป็นหลัก เช่น TSMC ARM Holding SK Hynik Microsoft Google Palo Alto Network และ CrowdStrike ซึ่งการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงได้สูง และอาจจะต้องถือหุ้นค่อนข้างยาว เพราะส่วนใหญ่หุ้นเหล่านี้ราคาปรับขึ้นมาแล้วระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามหากเป็นกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความมั่งคั่งสูง (High Net Worth) และต้องการลงทุนโดยที่มีความเสี่ยงขาลงจำกัด แนะนำให้ลงทุนผ่านหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงอ้างอิงกับตราสารทุนในตะกร้าประเภท Knock-In Knock-Out Basket Equity Linked Note (KIKO) สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ หรือผลิตภัณฑ์ Bonus Enhanced Note ที่กำหนดผลตอบแทนภายใต้เงื่อนไขที่อ้างอิงกับการปรับตัวของราคาหุ้นอ้างอิงแทน
ดร.ชาลี อัศวธีระธรรม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Digital Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การพัฒนาของปัญญาประดิษฐ์ (AI) มีความเร็วและมีอัตราเร่งสูงมาก โดยเรามองว่าในกลุ่มบริษัทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI มี 5 บริษัทที่โดดเด่น ได้แก่ 1) NVIDIA ที่ทำหน่วยประมวลผลด้านกราฟิก ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ชุดขั้นตอนการทำงาน (Algorithm) ของ AI ใช้ประโยชน์ได้ ถือเป็นผู้นำสำคัญด้านห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์สำหรับ AI ซึ่งในบางช่วงเวลามูลค่าธุรกิจของบริษัทปรับขึ้นมาสูงสุดในโลกแซงหน้าบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่รายอื่นได้ 2) OpenAI ซึ่งเป็นผู้พัฒนา ChatGPT ที่ตอบโต้ได้เหมือนมนุษย์ (Generative AI) มีการพัฒนาขีดความสามารถไปอย่างรวดเร็วมาก 3) Anthropic ที่มีรูปแบบการทำงานคล้ายกับOpen AI ที่มุ่งเน้นไปที่การพัฒนา AI ที่ปลอดภัย และเชื่อถือได้ 4) TSMC ผู้ผลิตชิปไต้หวันรายใหญ่ ที่ผลิตป้อนให้ NVIDIA และบริษัทอื่นๆ 5) Databricks ผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI การจัดเก็บข้อมูลให้เป็นระเบียบ ซึ่งปัจจุบันแม้จะยังไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แต่เมื่อไหร่ที่เสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ถือเป็นบริษัทที่น่าจับตา