Krungthai COMPASS ประเมินผลกระทบจากภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ต่ออาเซียนท่ามกลางความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น

   เมื่อ : 16 มิ.ย. 2568

หากสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีตอบโต้ตามอัตราที่ประกาศไว้ คาดว่าเวียดนาม กัมพูชา และไทยเป็นประเทศในอาเซียนที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากจะถูกสหรัฐฯ เก็บภาษีสูงถึง 46% 49% และ 36% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่ 33% อีกทั้ง ยังมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ สูงถึง 22% 21% และ 10% ต่อ GDP ตามลำดับ


Krungthai COMPASS ประเมินผลกระทบต่ออาเซียน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1) การส่งออกสินค้า โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบทางตรงมากที่สุด คือ กลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มสิ่งทอและรองเท้า เนื่องจากอาเซียนส่งออกไปสหรัฐฯ เฉลี่ยสูงถึง 34% และ 19% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปสหรัฐฯ ส่วนสินค้าที่จะได้รับผลกระทบทางอ้อมในการส่งออกไปจีนมากที่สุด คือกลุ่มเครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร และกลุ่มพลาสติกและยางพารา เนื่องจากอาเซียนส่งออกไปจีนเฉลี่ยถึง 25% 15% และ 6% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดไปจีน 2) การผลิต จากสินค้าจีนที่มีแนวโน้มทะลักเข้ามาในอาเซียนมากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อการผลิตรถยนต์ เคมีภัณฑ์ เหล็ก และเครื่องใช้ไฟฟ้า และ 3) การลงทุน อาจมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ต่ำ หรือย้ายกลับไปยังสหรัฐฯ


Krungthai COMPASS ประเมินว่า การขยายความร่วมมือทางการค้าภายในอาเซียนจะช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ โดยเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่มีศักยภาพในการส่งออกของผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ และน้ำตาล ซึ่งไทยส่งออกไปยังอาเซียนรวมกว่า 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ